News

ชป.คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำอย่างใกล้ชิด เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน

08/03/2021

กรมชลประทาน  สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องน้ำต้นทุน เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ พร้อมวางแผนรับมือฤดูน้ำหลาก เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเร่งกำจัดวัชพืชให้แล้วสร็จก่อนฤดูฝน ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (8 มี.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,726 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 16,797 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 11,464 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,046 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,350 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,352 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเมื่อเวลา 7.00 น (8 มี.ค. 64) ที่สถานีประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.40 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยในช่วงวันที่ 10 – 13 มี.ค. 64 นี้ จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นอีกครั้ง กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระราม 6 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ของวันนี้(8 มี.ค. 64) จากอัตรา 50 ลบ.ม./วินาทีเป็นอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที ไปจนถึงวันที่ 12 มี.ค 2564 เวลา 6.00 น. จากนั้นจะปรับลดลงเหลือ 40 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ เป็น 70 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 64 เวลา 6.00 น. ถึงวันที่ 11 มี.ค. 64  เวลา 6.00 น. เพื่อรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน 0.50 กรัมต่อลิตร พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ฤดูแล้งคงเหลือระยะเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนเศษ ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 9 มาตรการ ภายใต้เงื่อนไขน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ และให้บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง พร้อมสำรวจจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อนำมาวางแผนบรรเทาและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน และระยะยาวต่อไป 

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในปีนี้ฤดูฝนจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และการกำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำและการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผน ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้

No Comments

    Leave a Reply