News

ชป.ยืนยันโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย ช่วยบรรเทาน้ำท่วม น้ำแล้ง แม่น้ำเลยได้จริง

17/12/2020

กรมชลประทานชี้แจงกรณี ชาวบ้านกลุ่มฮักน้ำเลยกว่า 150 คนและพระสงฆ์ เรียกร้องให้กรมชลประทานทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย นั้น

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย ลักษณะโครงการฯ เป็นการขุดคลองช่องลัดเพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำบริเวณโค้งลำน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก 2 แห่ง บริเวณคลองช่องลัด  และบริเวณลำน้ำเดิม(แม่น้ำเลย)  โดยประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง จะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเลย  บานประตูระบายน้ำสามารถปิดเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำเลยได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร  นอกจากนี้ยังมีสถานีสูบน้ำพร้อมระบบท่อส่งน้ำความยาวประมาณ 99 กิโลเมตร  ทำหน้าที่ส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเลย บริเวณอำเภอเชียงคาน ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้งอีกกว่า 18,100 ไร่

ในส่วนข้อวิตกกังวลประเด็นเรื่องไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนการดำเนินโครงการฯ  ทั้งที่มีชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำจำนวนกว่า 70 ชุมชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนศรีสองรัก นั้น ขอชี้แจงว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย มีพื้นที่ชลประทานของโครงการไม่ถึง 80,000 ไร่ ประกอบกับไม่ได้เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก และไม่มีการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 รวมทั้งไม่ได้เป็นการผันน้ำผ่านลุ่มน้ำหลัก จึงไม่เขาข่ายตามประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือที่ ทส1010.6/15896 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ยืนยันว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามความในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิด จึงได้จัดทำแผนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2561-2571) ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการฯ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดให้ได้มากที่สุด

สำหรับข้อกังวลในเรื่องน้ำท่วมพื้นที่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน หลังการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จและเริ่มมีการเก็บกักน้ำ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า ในช่วงฤดูแล้งจะทำการปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของราษฎรแต่อย่างใด ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากจะเปิดบานประตูระบายน้ำทำให้สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับตัวแทนกลุ่มฮักน้ำเลย เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมร่วมกับตัวแทนของกลุ่มฮักแม่น้ำเลย ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎรในพื้นที่อย่างแท้จริง และขอยืนยันว่าก่อนการดำเนินโครงการฯ ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการศึกษาด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

No Comments

    Leave a Reply