News

เล็งพัฒนาลุ่มน้ำสงครามพ้นท่วม-แล้งพร้อมป้องพื้นที่ “ป่าบุ่งป่าทาม”

03/09/2020

สทนช.แจงความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมบรรเทาท่วม-แล้งลุ่มน้ำสงคราม ก่อนนำไปเป็นกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงครามที่ประเมินผลกระทบรอบด้าน เน้นย้ำไม่กระทบวิถีชีวิตท้องถิ่นคงระบบนิเวศน์และการประมง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม ในพื้นที่จังหวัดนครพนม – สกลนคร พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ รวมถึงรับฟังแลกเปลี่ยข้อคิดเห็นจากผู้แทนท้องถิ่น ก่อนรับฟังการบรรยายสรุปแนวทางการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม (แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงคราม) จากนั้นคณะได้ออกเดินทางไปยังปากน้ำไชยบุรี ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสงครามเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำโขง บริเวณกลางแม่น้ำสงคราม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการรุกล้ำของแม่น้ำโขง ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม ก่อนเดินทางต่อไปยังศาลาริมน้ำ หมู่ที่ 8 บ้านท่าก้อน ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อพบปะผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำพร้อมรับฟังปัญหาการมีส่วนได้/ส่วนเสียของโครงการ ก่อนเยี่ยมชมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่สำคัญในพื้นที่ด้วย

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งเป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม โดยพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามมักประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ช่วงฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำโขงหนุนสูงและไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงคราม การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงทำได้ช้า ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปีที่มีฝนตกในลุ่มน้ำสงครามปริมาณมาก โดยมีระยะเวลาน้ำท่วมระหว่าง 1 – 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร และเมื่อระดับน้ำท่วมลดลงเข้าสู่ฤดูแล้งระดับน้ำในแหล่งน้ำมีระดับลดต่ำลงอย่างรวดเร็วตามระดับน้ำในแม่น้ำโขง อีกทั้งการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำมีน้อยมาก และระบบชลประทานเพื่อนำน้ำมาใช้จากแหล่งน้ำก็มีจำนวนน้อยมาก จึงทำให้พื้นที่ของลุ่มน้ำสงครามส่วนใหญ่ประสบภัยแล้งด้วยเช่นกัน

“ที่ผ่านมาลุ่มน้ำสงครามมักเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี โดยเฉลี่ยพื้นที่น้ำท่วมในรอบ 14 ปี ประมาณ 398,975 ไร่ และพบว่าอุทกภัยใหญ่จะเกิดในทุกๆ รอบ 3 ปี โดยล่าสุดเมื่อช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำสงครามหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง”เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ดังนั้น หนึ่งในแนวทางในการศึกษาความเหมาะสมในการสร้างประตูระบายน้ำกลางแม่น้ำสงคราม ที่ ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำหน่วย จ.สกลนคร เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ในระยะทางไกลถึง 150 กิโลเมตร ความจุน้ำ 74 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมากถึง 4 แสนไร่ โดยในฤดูแล้ง จะปิดบานระบายน้ำทุกบานเพื่อยกระดับน้ำและเก็บกักน้ำในลำน้ำหน้าประตูระบายน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การประมง และการใช้น้ำอื่นๆ ขณะที่ในฤดูฝน ช่วงน้ำหลาก จะเปิดบานระบายน้ำพ้นน้ำโดยให้มีการระบายน้ำในแม่น้ำสงครามผ่านบริเวณหัวงาน ปตร. ไหลลงสู่แม่น้ำโขง สภาพใกล้เคียงเหมือนก่อนมีประตูระบายน้ำให้มากที่สุด สำหรับช่วงอื่นๆ ควบคุมบานระบายน้ำ เพื่อยกระดับน้ำและรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมในกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ ในกรณีที่สภาพอุทกวิทยาของน้ำท่าในแม่น้ำโขง และในลุ่มน้ำสงครามเกิดวิกฤต เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน หรือต่ำลงหรือแห้งขอด หรือเกิดภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงในลุ่มน้ำสงคราม เป็นต้น

“ลุ่มแม่น้ำสงคราม สามารถพัฒนาพื้นที่ฯ ให้เป็นชุมชนแห่งการอยู่กับน้ำหลากได้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำสงคราม โดยกระดับและผันน้ำจากหน้าประตูระบายน้ำเข้าไปเติมในแก้มลิงธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ริมสองฝั่งลำน้ำให้มีน้ำตลอดปี โดยให้มีการกีดขวางระบบนิเวศ สัตว์น้ำ และการระบายน้ำช่วงน้ำหลากให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ยังสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งเข้ามาใช้ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างได้ สามารถนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลาก ได้แล้ว เท่ากับเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในบริเวณพื้นที่โครงการให้ดียิ่งขึ้นด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาลุ่มน้ำสงครามต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการฟื้นฟู ที่ต้องบูรณาการเพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ในภาค เศรษฐกิจ – สังคม–สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการศึกษาข้างต้นจะนำไปสู่การขับเคลื่อนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงครามโดยเร็วต่อไป

No Comments

    Leave a Reply