News

ชป.เร่งระบายน้ำท่วมขังต่อเนื่อง เตรียมรับพายุลูกใหม่ บรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน

21/12/2020

กรมชลประทาน พร้อมรับมือพายุลูกใหม่ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาตคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในช่วงวันที่ 24-25 ธันวาคมนี้ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังอย่างต่อเนื่อง หวังลดปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (21 ธ.ค.63)อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 48,126 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,039 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,138 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,442 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 965 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนฯ

สำหรับลุ่มเจ้าพระยา ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก พร้อมคุมเข้มแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 63/64 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากน้ำต้นทุนฤดูแล้งนี้มีน้อยไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ ต้องสำรองน้ำไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก ส่วนนาปี 2563 ที่บางส่วนปลูกล่าช้า พื้นที่กว่า 800,000 ไร่ นั้น จะช่วยเหลือจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงาน สำหรับปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เสริมหรือทดแทนที่ไม่สามารถทำการเกษตรในหน้าแล้งนี้ได้

ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ อิทธิพลของพายุโซนร้อน “กรอวาญ” (พายุระดับ 3) คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. 63 จะส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2564 อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้อีก ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมืออุทกภัยอย่างเคร่งครัด มีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยง และสำรองไว้ให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ ช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น ช่วยลดและบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อน

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง และอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันหลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอยู่ ยังช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นอีกในระยะต่อไป หลังจากนั้นจะทำการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากทั้งภัยแล้ง และอุทกภัยให้ได้มากที่สุด                  

No Comments

    Leave a Reply