News

ชป.เดินหน้าบริหารจัดการน้ำตามมาตรการ กอนช.อย่างเคร่งครัด

30/05/2022

 วันนี้(30 พ.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (30 พ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,336 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 32,749 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,475 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,396 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากในระยะนี้ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่  ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศรวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำตามช่วงเวลา สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)กำหนด  ที่สำคัญให้ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเก็บวัชพืชทางน้ำสายย่อย เพื่อไม่ให้วัชพืชไหลลงมาในทางน้ำสายหลัก ซึ่งจะส่งผลต่อการระบายน้ำได้

ทั้งนี้  กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงซึ่งอาจจะส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรบางแห่ง จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศต้องไม่ขาดแคลน  บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการใช้น้ำฝนเป็นหลัก พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องตามเกณฑ์ของแต่ละพื้นที่  รวมทั้งเก็บกักน้ำในอ่างฯ ตามเกณฑ์เก็บกักให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากอย่างเคร่งครัด

No Comments

    Leave a Reply