PR NEWS

อย่าฝังเกษตรกรทั้งเป็น ด้วยเนื้อหมูนำเข้า

28/01/2022

แนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูมาเติมซัพพลายในประเทศ ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางแก้ปัญหาราคาหมู วิธีนี้อาจช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นๆได้ แต่ในระยะยาวแล้ว ถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ต่างอะไรกับการขุดหลุมฝังเกษตรกรให้ตายทั้งเป็น

ในมุมของผู้บริโภค ย่อมต้องการให้ราคาอาหารปรับตัวลงเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย แนวทางนี้จึงถูกเชียร์จากคนหมู่มาก แต่สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงที่เป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ เรื่องนี้กลับสร้างความหวั่นวิตกต่ออาชีพอย่างมาก เพราะการมาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ย่อมสั่นคลอนเสถียรภาพราคาหมู และความมั่นคงในอาชีพ

ประการแรก : หมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูนอกได้ เนื่องจากหมูต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าไทยมาก จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย 2-3 เท่า เพราะประเทศเหล่านั้นเป็นทั้งผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์รายสำคัญของโลกด้วย ต่างจากไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทุกชนิด อาทิ กากถั่วเหลือง ล่าสุดราคาอยู่ที่ 20.10 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแนวโน้มราคาปรับขึ้น จากประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอาเจนตินาและบราซิลประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง ผลผลิตอาจลดลง ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 10.95 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 12% ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 5-10% ในไตรมาสที่ 1/2565 เพราะเป็นช่วงท้ายของฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของไทย ราคาวัตถุดิบที่ปรับขึ้นกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตหมู เพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยง

ที่สำคัญอาชีพเกษตรกรของต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีคุณค่า ภาครัฐของเขาให้ความสำคัญและมองว่าต้องรักษาไว้ จึงให้การสนับสนุน (Subsidize) ในทุกๆด้าน ทั้งด้านการลงทุน ด้านการลดต้นทุนการผลิต และการสนับสนุนด้านการตลาด มิใช่การดูแลเฉพาะผู้บริโภคให้มีค่าครองชีพที่เหมาะสม แต่เกษตรกรต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีผลกำไรในการประกอบกิจการ ซึ่งจะช่วยคงอาชีพเกษตรกรเอาไว้เพื่อป้อนสินค้าให้คนทั้งประเทศ

ประการที่ 2 : ความเสี่ยงจากโรคที่มากับหมูนำเข้า เพราะในแต่ละประเทศมีโรคประจำถิ่นทั้งสิ้น การยอมให้หมูนอกเข้ามา ก็ไม่ต่างกับการนำเข้าโรคต่างถิ่นมาในประเทศไทย หากเชื้อโรคเข้ามาปนเปื้อนในธรรมชาติ ในกระบวนการเลี้ยงหมู ฝูงหมูของไทยย่อมโดนเชื้อโรคต่างถิ่นเข้าทำร้าย ซึ่งวันนี้ก็เห็นภาพความเสียหายแล้วจากโรค ASF ที่ในที่สุดก็เข้ามาเจาะไข่แดงอุตสาหกรรมหมูไทยได้ หลังจากมีความพยายามป้องกันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องไม่ยอมให้หมูนอกเข้ามา เพื่อปิดประตูเสี่ยงทั้งหมดให้ได้

ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมู ถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลตัวเอง ดูแลกันเอง และต้องเป็นผู้เสียสละ เพราะต้องขายสินค้าภายใต้การควบคุม ไม่สามารถขายในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ ไม่เคยขายหมูได้ตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้น ดูง่ายๆอย่างวันนี้ที่คนเลี้ยงหมูพยายามประคับประคองสถานการณ์ ด้วยการรักษาระดับราคาหมูไม่ให้เกินกว่ากิโลกรัมละ 110 บาท มาเป็นเวลา 1 เดือน ล่าสุดยังช่วยกันลดราคาหมูหน้าฟาร์มลงมาอีก เฉลี่ยอยู่ที่ 104-110 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับเพิ่มราคาขายปลีกเนื้อหมูในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้ว่าเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 100-120 บาทต่อกิโลกรัมแล้วก็ตาม

เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังต้องหวั่นใจกับแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมู ที่จะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายอาชีพของพวกเขา เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ และยังกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ มาตรการของภาครัฐที่กำลังเร่งผลักดันเกษตรกรรายย่อยให้กลับเข้ามาในระบบ เพื่อช่วยกันเพิ่มซัพพลายหมูต้องล้มเหลว เพราะเกษตรกรเริ่มไม่มั่นใจในอาชีพ เมื่อไม่อยากเสี่ยงก็อาจถอดใจไม่กล้าลงทุนเลี้ยงหมูรอบใหม่ กลายเป็นการฉุดรั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องคิดทบทวนแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูอย่างละเอียด อย่ามองเพียงผลลัพธ์ระยะสั้น จนลืมผลกระทบในระยะยาว และหนทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ง่าย แค่ปล่อยกลไกตลาดให้ทำงานตามวิถีของมัน เมื่อราคาปรับขึ้นตามปริมาณที่ลดลง คนจะลดการบริโภคในทันที ในที่สุดปริมาณจะกลับสู่จุดสมดุล ราคาก็จะกลับมาปกติเอง โดยไม่ต้องหาหนทางมาควบคุมดูแล./

 

No Comments

    Leave a Reply