News

รัฐมนตรีเกษตรฯ ล่องใต้ดันโครงการลุ่มน้ำคลองกลาย แก้ปัญหาน้ำ จ.นครศรีธรรมราช

16/08/2020

วันนี้ (16 สิงหาคม 2563) เวลา 10.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ไปยังที่ว่าการอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ ในการนี้

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย ณ ศาลาอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำหรับลุ่มน้ำคลองกลาย มีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 675.18 ตารางกิโลเมตร ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,879.20 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 745.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในอำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยตำบลต่างๆ ในลำน้ำรวมทั้งสิ้น 9 ตำบล มีความยาวลำน้ำโดยประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งราษฎรในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับกิจกรรมทางการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำในคลองกลายซึ่งเป็นลำสายหลัก มีปริมาณน้ำจืดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค ทั้งยังไม่มีแหล่งน้ำเก็บกักขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และปัญหาการรุกตัวของน้ำทะเลเป็นประจำทุกปี แต่ในช่วงฤดูฝนกลับพบว่ามีปริมาณน้ำจำนวนมากอันเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจ

กรมชลประทานจึงได้ร่วมกับราษฎรในพื้นที่ศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ โดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชา ไปใช้ในการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยบริเวณต้นน้ำมีการวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกัก บริเวณกลางน้ำมีการสร้างอาคารบังคับน้ำและฝายเพื่อใช้ในการหน่วงน้ำ และบริเวณปลายน้ำมีการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำเพื่อช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม

ทั้งนี้กรมชลประทานได้มีแผนการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ในการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลาย โดยระยะเร่งด่วนจะมีการดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำคลองกลาย และสถานีสูบน้ำคลองกลายและระบบส่งน้ำเพื่อเติมน้ำไปยังบริเวณหน้าฝายคลองคูถนน ช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ในระยะกลางและระยะยาวจะต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทั้งลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณความจุเก็บกักในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกลาย เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ ช่วยรักษาระบบนิเวศให้กับพื้นที่ และสามารถบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ผลได้ผลเสีย และผลกระทบให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบปะผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้กรมชลประทานเร่งศึกษา สำรวจ โครงการต่างๆ และเตรียมตั้งงบประมาณในปี 2565 เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกลาย ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อให้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองกลายสำเร็จได้ด้วยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

No Comments

    Leave a Reply