PR NEWS

ไข่ราคาขยับ เกษตรกรยังไม่พ้นทุกข์ ชวนผู้บริโภคกินไข่ช่วยเกษตรกร

14/05/2021

สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ที่ฟองละ 2.90 บาท (มีผล 12 พ.ค. 2564) ถือราคาที่พ้นต้นทุนการผลิตที่ 2.66 บาทต่อฟอง เพียงเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นการสร้างผลกำไรให้แก่เกษตรกร แค่เพียงช่วยต่อลมหายใจให้พอใช้หนี้ที่แบกรับมาก่อนหน้านี้ รวมถึงใช้ต่อทุนสำหรับการเลี้ยงไก่รุ่นต่อไปและพอมีแรงเดินหน้าต่อเท่านั้น

ก่อนนี้เกษตรกรจำต้องขายไข่ขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน จากปัญหาไข่ล้นตลาด ขนาดที่เคยมีไข่ไก่ส่วนเกินกว่า 3 ล้านฟองต่อวัน กระทบให้ราคาไข่ดิ่งลงทันที ยิ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.60 ต่อฟอง ขณะที่ราคาไข่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรเฉลี่ยทั้งปีเพียงฟองละ 2.61 บาท เท่ากับเกษตรกรแทบไม่มีกำไรด้วยซ้ำ ยิ่งฟาร์มไหนที่มีปัญหาโรคสัตว์ปีก หรือเกิดความเสียหายจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงก็เข้าข่ายขาดทุนแน่ กลายเป็นทุกข์ของเกษตรกร

คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) และคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ได้ร่วมกันแก้ปัญหา ด้วยการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ (เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป) จำนวน 117 ราย ร่วมกันปรับลดแม่ไก่ยืนกรงที่อายุไม่เกิน 75 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาสามารถปรับลดแม่ไก่ไข่รวม 2.78 ล้านตัว ควบคู่กับการผลักดันการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินออกไปต่างประเทศ 100 ล้านฟอง และให้ภาคเอกชนสมทบไข่ไก่ส่งออกเพิ่มอีก 100 ล้านฟอง รวมเป็น 200 ล้านฟอง โดยผู้ส่งออกต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน ฟองละ 40-50 สตางค์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาได้

การส่งออกไข่ที่เกิดขึ้นในภาวะจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกิน ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในประเทศ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ จึงไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้ผู้ส่งออกอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่นับเป็นการเสียสละช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและพยุงอุตสาหกรรมไก่ไข่ไว้ ไม่ให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรที่รวมตัวกันในรูปแบบชมรมและสหกรณ์ ต้องได้รับผลกระทบจากภาวะราคาไข่ไก่ตกต่ำไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามอาจมีคำถามว่า ในเมื่อเกษตรกรขาดทุนขายไข่ได้ในราคาถูก แต่เหตุไฉนตอนซื้อไข่ในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องจ่ายเงินมากกว่า เรื่องนี้มีคำตอบ เพราะเส้นทางไข่ไก่ก่อนถึงมือผู้บริโภคมีสายการผลิตยาว ต้องผ่านหลายขั้นตอนและคนกลางหลายส่วน ขณะที่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตขั้นแรกกลับไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับขึ้นนั้น เพราะเก็บผลผลิตได้ก็ขายออกทันที ส่วนที่จะคิดว่าเกษตรกรเป็นต้นเหตุราคาปรับขึ้นนั้นก็มีอันเลิกล้มความคิดไปได้

 

 

ส่วนซัพพลายเชนของวงจรการค้าไข่ มีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรรวมไข่ หรือล้งไข่ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงร้านขายของชำ และตามตลาดสดในหมู่บ้านที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย แน่นอนว่าแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น เป็นคำตอบว่าจากหน้าฟาร์มมาถึงผู้บริโภค ราคาไข่จึงต้องปรับขึ้นเป็นธรรมดา

การสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคก็มีส่วนช่วยเรื่องนี้ได้ เริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าคอมโมดิตี้ (Commodities) ราคาอ่อนไหวผันแปรตามกลไกตลาด โดยมีความต้องการของตลาดและผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นตัวควบคุม เมื่อสองปัจจัยนี้ไม่สมดุลกันเสียแล้ว ราคาย่อมปรับขึ้นลงเป็นธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้นหากทุกคนบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นเพียงวันละหนึ่งฟอง ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมไข่ไก่เดินหน้าต่อได้แล้ว

ราคาไข่ไก่ที่ปรับขึ้น ไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้เกษตรกร ไม่ได้ทำให้เกษตรกรรวยขึ้น เพียงแค่พอฉุดให้พวกเขาพ้นน้ำมาได้ ช่วยต่อลมหายใจให้อาชีพนี้ไม่ล้มหายไป เพื่อให้ประเทศไทยยังคงมีเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่ สร้างโปรตีนคุณภาพดีราคาประหยัดเพื่อคนไทยทุกคนต่อไป

No Comments

    Leave a Reply