News

ชป. เดินหน้าช่วยเหลือภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง/พร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

13/04/2020

วันนี้(13 เม.ย. 63)ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถาการณ์น้ำปัจจุบัน(13 เม.ย. 63)ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 37,053 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 13,354 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 9,020 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,324 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 15,364 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้วรวม 4,124 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 92 ของแผนฯ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายนปี 63 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีปริมาณฝนปกติ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางที่ของภาคกลาง รวมถึงภาคใต้ตอนล่าง จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัด จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยจะใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

สำหรับแผนการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝนปี 2563 ทั้งประเทศกำหนดไว้รวม 16.79 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 8.10 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 900,000 ไร่ ซึ่งในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนหรือทุ่งบางระกำ ปีนี้กำหนดให้มีพื้นที่เพาะปลูกทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 18,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะสามารถเริ่มทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกสม่ำเสมอในระยะต่อไป

ในส่วนของมาตรการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 63 นั้น ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบโทรมาตรเตือนภัยต้องพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งอาคารชลประทานต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมไปถึงการสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในเขตชุมชนและพื้นที่การเกษตร การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวาที่ไหลมาตามลำน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดี ที่สำคัญได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักร อาทิ รถขุด รถบบรทุก เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องมืออื่นๆ รวมกว่า 4,850 หน่วยทั่วประเทศ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือหากเกิดเหตุอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที

No Comments

    Leave a Reply