News

ประชุม APPPC 31th ภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก ประเทศไทย เจ้าภาพอย่างเป็นทางการ

27/11/2019

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 31 (The Thirty-first Session of The Asia and Pacific Plant Protection Commission; APPPC) ซึ่งมีประเทศสมาชิกจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 20 ประเทศ ร่วมประชุมพิจารณาร่างมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืชระดับภูมิภาค (Regional Standards for Phytosanitary Measures; ISPMs) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 31 (The Thirty-first Session of The Asia and Pacific Plant Protection Commission; APPPC) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุม APPPC ครั้งที่ 31 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO Regional Office for Asia and the Pacific (FAO-RAP) ได้มีจดหมายเชิญประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ตามมติที่ประชุม APPPC ครั้งที่ 30 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่เมืองโรโตรัว ประเทศนิวซีแลนด์ การประชุม APPPC ครั้งที่ 31 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมประชุมจำนวน 20 ประเทศ และมีผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวฯ เป็นการประชุมใหญ่ของคณะกรรมาธิการอารักขาพืชระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 25 ประเทศ โดยมีกำหนดจัดการประชุมทุกๆ 2 ปี ซึ่งเป็นเวทีการรายงานสถานการณ์ด้านกักกันพืช การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และการบริหารจัดการวัตถุอันตรายทางการเกษตรของประเทศสมาชิกร่วมกัน รวมถึงการพิจารณารับรองร่างมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืชระดับภูมิภาค (Regional Standards for Phytosanitary Measures; RSPMs)

ด้าน ดร. เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หัวหน้าคณะฝ่ายไทย กล่าวว่า การประชุม APPPC ครั้งที่ 31 มีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณา 3 เรื่อง คือ มาตรฐานการเคลื่อนย้ายผลมะม่วงสดระหว่างประเทศ เสนอโดยประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาเงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออกผลมะม่วงสดของประเทศสมาชิก และส่วนของประเทศไทย เสนอ 2 เรื่อง คือ วิธีการสุขอนามัยพืชในการรับรองการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการใช้วิธีแช่น้ำร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมะม่วง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก หากได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก เนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมนโยบาย seed hub ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม และการเพิ่มวิธีกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วงที่มีต้นทุนต่ำกว่า วิธี อบไอน้ำ และฉายรังสีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกมะม่วงของประเทศไทย…

No Comments

    Leave a Reply