ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อน Model แพะใน จ.กระบี่ และในพื้นที่ภาคใต้ ขยายผลสำเร็จผ่านงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยได้นำขนแพะมาสกัดเป็นน้ำหอมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จากการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำโดย นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ไปยัง ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ และ มหาวิทยาลัยแพะ โดยมี นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ได้ประชุมปรึกษาหารืองานวิจัยด้านแพะและกล่าวถึงการเหลือทิ้งของขนแพะในฟาร์ม
ดร.ขนิษฐา ชวนะนรศรษฐ์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร, วว. จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาและนำนวัตกรรมการสกัดขนแพะมาพัฒนาน้ำหอมที่มีกลิ่นเฉพาะตัว มีความโดดเด่น ซับซ้อนและลอกเลียนแบบยาก นอกจากนี้ได้อยู่ระหว่างการวิจัย Male Pheromone ที่มีในขนแพะเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมเป็นครั้งแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ที่เน้นไปที่การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ การเสริมประโยชน์จากแพะและนมแพะ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับฟาร์มแพะในจังหวัดกระบี่และมหาวิทยาลัยแพะนานาชาติ ศรีผ่องฟาร์ม อ. เมือง จ. กระบี่ ที่มีการเลี้ยงแพะเพื่อการขยายพันธุ์และจำหน่ายมาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มูลค่าสูง เช่น น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากขนแพะมีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่อุปทาน เกิดการสร้างรายได้ต่อชุมชนและการเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน จังหวัดกระบี่และประเทศไทย จากการพัฒนาน้ำหอมขนแพะทั้งกลิ่นผู้หญิงและกลิ่นของผู้ชายได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ดร.ขนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขนแพะนี้ มีคุณสมบัติพิเศษ มีกลิ่นฉุนแรง แต่ในความฉุนนั้นมีกลิ่นที่เฉพาะตัวที่สามารถนำมารังสรรค์เป็นน้ำหอมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและลอกเลียนแบบยาก จากการสังเกตพบว่าผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้มีการใช้วัตถุดิบที่มีกลิ่นเฉพาะหลายชนิด ขณะนี้วว. อยู่ระหว่างการพัฒนาขนแพะที่เหลือจากการสกัดเป็นอุปกรณ์เพื่อเสริมความงาม เช่น ขนแปรงอ่อนนุ่มปัดแก้มหรือปัดแป้ง ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากเส้นใยขนแพะทดแทนการใช้พลาสติกและโพลิเมอร์
นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้กล่าวเสริมถึงงานการวิจัยและพัฒนาน้ำมันหอมระเหยของวว.ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้ในด้านเสริมสุขภาพและความงาม ดังนั้นการพัฒนาน้ำหอมจากขนแพะจึงเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางของประเทศ
แพะ เป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ นอกจากจะนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารนานาชนิด แล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมและอุปกรณ์เสริมความงามได้ ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยหรือ วว. จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากแพะให้ได้มีผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพิ่มมูลค่าขนแพะ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มรายได้และยกระดับเศรษฐกิจของชุมชน คนเลี้ยงแพะในจังหวัดกระบี่และทั่วประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
No Comments