PR NEWS

กลุ่มผักอินทรีย์นิคมเศรษฐกิจพอเพียง วังน้ำเขียวใช้แปลงพยากรณ์จัดการศัตรูพืชได้อยู่หมัด

17/09/2018

 

กลุ่มผักอินทรีย์นิคมเศรษฐกิจพอเพียง วังน้ำเขียวใช้แปลงพยากรณ์จัดการศัตรูพืชได้อยู่หมัด แปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช หรือแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช เป็นหนึ่งในวิธีการอารักขาพืชหรือการบริหารจัดการศัตรูพืช ที่กรมส่งเสริมการเกษตร นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจติดตาม และเฝ้าระวังศัตรูพืช เพื่อสามารถพยากรณ์หรือคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดการระบาดของศัตรูพืช และเตือนภัยแก่เกษตรกรได้ทันท่วงที นำไปสู่การเลือกวิธีการจัดการศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ด้วย

พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งปลูกผักและผลไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่มีการใช้แปลงพยากรณ์ศัตรูพืช ในการป้องกันศัตรูพืชและแจ้งเตือนภัยสถานการณ์ศัตรูพืชให้กับสมาชิกกลุ่มได้ทราบ จึงได้บริหารจัดการได้ทันท่วงที

​ว่าที่ร้อยโท ธีรภัทร ศรีคงอยู่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียวได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา ตั้งแต่ต้นน้ำ ให้ความรู้การทำเกษตรปลอดภัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวภัณฑ์ ซึ่งแต่ก่อนเกษตรกรอาจใช้ชีวภัณฑ์ไม่ตรงกับโรคหรือศัตรูพืช ก็มาถ่ายทอดความรู้วิธีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ให้ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งให้จัดทำแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการศัตรูพืช เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เมื่อพบเจอแมลงศัตรูพืชหรือโรคแมลง ก็จะได้แจ้งเตือนให้สมาชิกทราบ สามารถใช้ชีวภัณฑ์ได้ตรงกับชนิดของแมลงและโรคนั้นๆ ทำให้เกษตรกรจัดการศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ประโยชน์จากแปลงพยากรณ์ในการจัดการศัตรูพืชได้ผลถึง 80% อีก 20% ขึ้นกับสภาพอากาศที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงพยากรณ์ทุกฤดูกาลผลิต โดยพืชผักกำหนดขนาดพื้นที่ประมาณ 1 งาน เกษตรกรต้องสำรวจและสุ่มนับจำนวนแมลงอย่างน้อย 10 จุด เพื่อดูว่าแมลงที่พบมีทั้งตัวดี (ศัตรูธรรมชาติ) หรือแมลงไม่ดี (ศัตรูพืช) มีอะไรบ้าง ถ้าพบศัตรูพืชมากกว่าจะต้องแจ้งเตือนการระบาดศัตรูพืชโดยใช้ธงสัญลักษณ์ติดอยู่ที่ป้ายแปลง มีทั้งหมด 3 สี คือ ธงสีเขียว หมายถึง สถานการณ์ศัตรูพืชปกติ  ธงสีเหลือง หมายถึง เฝ้าระวัง ธงสีแดง หมายถึง พบศัตรูพืชระบาด จากนั้นต้องแจ้งเตือนให้สมาชิกรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อหาวิธีป้องกันต่อไป

เกษตรกรที่นี่เชื่อมั่นว่าแปลงพยากรณ์ทำแล้วได้ผล จึงขยายการทำเกษตรอินทรีย์ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จากเริ่มต้นสมาชิก 10 คน ก็ขยายมาเรื่อยจนตอนนี้มีสมาชิก 34 คน ในการเพาะปลูกผักระบบอินทรีย์ นำมาซึ่งความปลอดภัยของผู้บริโภคและรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น เดิมที่ขายผักมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP เฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 บาทต่อกก. แต่พอขยับมาเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทางโรงคัดบรรจุเห็นความสำคัญก็เพิ่มราคารับซื้อตามมาตรฐานที่สูงขึ้นเป็น 70 บาทต่อกก. ผลผลิตมีคุณภาพ มีตลาดรองรับที่แน่นอน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกกลุ่มดีขึ้นตามลำดับ

“ตนในฐานะคนรุ่นใหม่อนาคตของกรมส่งเสริมการเกษตร Future DOAE มีแผนส่งเสริมให้พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์ในเครือข่าย 8 จังหวัดที่ผลิตผักอินทรีย์ ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพื่อสร้างฐานการผลิตผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ตลอดจนช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่ดีให้คงอยู่” ว่าที่ร้อยโท ธีรภัทร กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางจิรัชญา วงศ์ทิม ประธานวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่นิคมเศรษฐกิจพอเพียง บ้านคลองบงพัฒนา อ.วังน้ำเขียว เล่าว่า สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์ฯ แห่งนี้ได้ประโยชน์จากแปลงพยากรณ์ศัตรูพืชอย่างมาก เวลาเจอแมลงศัตรูพืชก็สามารถแจ้งสมาชิกให้ป้องกันได้ทัน โดยทางกลุ่มจะมีไลน์กลุ่ม (แอพพลิเคชั่น LINE)ไว้สำหรับแจ้งเตือนให้สมาชิกทราบสถานการณ์ศัตรูพืชระบาดทันที เพราะที่นี่ผลิตผักอินทรีย์จะเน้นการป้องกันมากกว่ากำจัด โดยรูปแบบการดำเนินงานของกลุ่มจะผลิตผักสลัด ผักพื้นบ้าน ส่งให้กับบริษัทเอกชนเป็นหลัก เน้นการตลาดนำการผลิต คือรับออเดอร์จากตลาดมาก่อนแล้วจึงมาวางแผนการผลิตกับสมาชิก โดยแบ่งการผลิตตามความเหมาะสมของสมาชิกแต่ละรายเนื่องจากทักษะการปลูกพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญสมาชิกจะช่วยกันติดตามแปลงพยากรณ์เพื่อเฝ้าสังเกตการระบาดของศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง

หากพบศัตรูพืชจะใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกัน เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า บิวเวอร์เรีย เมตตาไรเซี่ยม เชื้อ BT และเชื้อ BS ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ซึ่งชีวภัณฑ์บางตัวอย่างไตรโคเดอร์ม่ากับบิวเวอร์เรีย ทางกลุ่มสามารถผลิตเองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้อีก แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มจะลดปัญหาศัตรูพืชระบาดโดยหลีกเลี่ยงปลูกพืชชนิดนั้นๆ ในช่วงที่พบการระบาดมาก เช่น ฤดูร้อนแมลงระบาดมากก็จะไม่ปลูกถั่ว หรือผักกวางตุ้ง เป็นต้น

“เราทำผักอินทรีย์ ต้องใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันศัตรูพืชและโรคพืช 100% ซึ่งทางกลุ่มได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด จนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ทำโรงเรือนจำนวน 50 โรงเรือน จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายการผลิตผักอินทรีย์รองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญจะพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสลัดใช้เอง เนื่องจากตอนนี้ต้องซื้อในกก.ละ 20,000 บาท ถ้าเราผลิตเองจะลดต้นทุนส่วนนี้ได้อีกมาก หากสำเร็จก็จะขยายไปสู่เมล็ดพันธุ์ผักชนิดอื่นที่มีราคาสูง ทั้งนี้ เพราะกลุ่มเราอยู่ในพื้นที่นิคมเศรษฐกิจพอเพียงมีพื้นที่จำกัด เราต้องเน้นไปที่ผลิตผักที่ให้ราคาสูง เกษตรกรจะได้มีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย”

หากเกษตรกรท่านใดต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกการใช้สารเคมี หันมาใช้ชีวภัณฑ์ซึ่งสามารถผลิตใช้ได้เอง ติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรใกล้บ้าน

 

No Comments

    Leave a Reply