PR NEWS

เกษตรกรวังน้ำเขียว ใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชในสวนพุทรานมสด ต้นทุนลด ชีวิตเปลี่ยน

17/09/2018

​อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งโอโซนติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก จนได้รับการขนานนามว่าสวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนจำนวนมากในแต่ละปี

​นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า วังน้ำเขียวมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ นักท่องเที่ยวต่างก็อยากมาสัมผัสบรรยากาศและชื่นชมธรรมชาติ ส่วนที่ตามมาคือเรื่องความต้องการอาหาร ผัก ผลไม้ ดังนั้น การผลิตพืชผลทางการเกษตรที่นี่จึงจำเป็นต้องเน้นความปลอดภัย สิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาดำเนินการในพื้นที่นี้คือการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม ตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศัตรูพืชที่กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งหลักๆ ที่นิยมใช้มี 3 ชนิด คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นเชื้อราทำลายเชื้อโรคพืช ส่วนเชื้อราบิวเวอร์เรีย และเชื้อราเมตตาไรเซียน เป็นเชื้อราทำลายแมลงศัตรูพืช

​กรมส่งเสริมการเกษตรมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืชประจำอยู่ในพื้นที่ ทั้งจากสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช นครราชสีมา ได้เข้าไปถ่ายทอดความรู้การผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างความปลอดภัยทั้งต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ​ตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกพุทรานมสด ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำการเคมีหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช ต้นทุนลดลง ผลผลิตมีความปลอดภัยสามารถจำหน่ายได้ราคาที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือสุขภาพดีขึ้นกว่าตอนใช้เคมี ทำให้เกิดการยอมรับในเทคโนโลยีที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำ เกิดการขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง​

ด้านนายไพโรจน์ ขำแจง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จ.นครราชสีมากล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีการผลิตพืชหลากหลาย ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก เกษตรกรบางรายก็ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืชมากทำให้ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ทางศทอ.นครราชสีมา ก็ตระหนักดีว่าที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และผลิตอาหารส่งไปวางจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด ถ้าสินค้าออกจากที่นี่ไปมีสิ่งเจือปนหรือสารพิษตกค้างเยอะก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงเข้ามาจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช ที่ ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพุทรานมสด และผัก ผลไม้อีกหลากหลายชนิด โดยเน้นรวมกลุ่มผลิตจุลินทรีย์ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราบิวเวอร์เรีย และเชื้อราเมตตาไรเซียน ใช้เองเพื่อควบคุมศัตรูพืชและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งมีการตั้งเป้าว่าผลผลิตที่ออกจากพื้นที่นี้ต้องปลอดสารเคมี ซึ่งดำเนินการมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมีบางรายได้ยกระดับไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ขณะนี้ทาง ศทอ.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการขยายเชื้อและใช้ชีวภัณฑ์ให้ถูกต้องเหมาะสมกับศัตรูพืชแต่ละชนิด ซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้อย่างดี แต่ก็จะมีการสุ่มตรวจชีวภัณฑ์ที่เกษตรกรผลิตให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ชีวภัณฑ์มีคุณภาพสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่ ต.วังหมี จะเห็นว่าเกษตรกรให้ความสำคัญและมีการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชอย่างจริงจัง ทาง ศทอ.จึงได้นำโมเดลนี้ไปขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

 

“อยากให้คำนึงถึงเรื่องความมีคุณธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่อยากให้ผลิตของที่ไม่ปลอดภัยหรือสารพิษตกค้างที่เป็นโทษให้คนอื่นบริโภค อย่างที่เคยได้ยินว่าฉีดยาเช้าเก็บเย็นเอาไปขาย ไม่อยากให้มี อยากให้ใช้ชีวภัณฑ์หรือศัตรูธรรมชาติควบคุม อยากประชาสัมพันธ์ว่า พื้นที่ ต.วังหมี กำลังเป็นจุดเริ่มต้นเกษตรกรไม่ใช้สารเคมี เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม”

​ด้านนางปาลิดา นารีนุช เกษตรกร ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืชในแปลงพุทรานมสด กล้วย และพืชผักต่างๆ เล่าว่า ตอนแรกทำพืชไร่เชิงเดี่ยวตามพ่อแม่ ใช้สารเคมีอย่างเดียว พอมาปี 2550 เริ่มปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพุทรานมสดแทน แต่ก็ยังใช้สารเคมีอย่างเดิม ต่อมาเริ่มมีอาการแพ้สารเคมี สุขภาพเริ่มย่ำแย่จึงคิดหาวิธีอื่นทดแทน จึงได้เข้าไปรับการอบรมการใช้ชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งระยะแรกเป็นระยะปรับเปลี่ยนก็จะใช้ชีวภัณฑ์ควบคู่กับสารเคมี เมื่อใช้ไปสักพักก็เห็นข้อแตกต่างว่าสารเคมีชนิดหนึ่งจะใช้กับศัตรูพืชเฉพาะตัวนั้น และต้องแยกกันฉีด เป็นการเพิ่มต้นทุน ขณะที่เชื้อราบิวเวอร์เรียตัวเดียวจบควบคุมศัตรูพืชได้ทุกชนิด

​อย่างเราปลูกพุทรานมสดมีศัตรูพืชแต่ละช่วงฤดูไม่เหมือนกัน อย่างช่วงฝนตกชุกจะมีปัญหาโรคแอนแทรคโนส แต่ก่อนใช้สารเคมีเอาไม่อยู่เชื้อโรคยังขยายตัวได้ แต่พอมาใช้ไตรโคเดอร์ม่าช่วยได้เห็นผลชัดเจน ฉะนั้นตอบโจทย์เราได้อย่างดี ต้นทุนไม่สูงเพราะเราทำใช้เองได้ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศทอ.นครราชสีมา มาให้ความรู้และแนะนำวิธีการผลิตชีวภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานอยู่ตลอดเวลา ส่งผลดีต่อผลผลิตที่ได้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย อย่างตอนที่ใช้สารเคมีเนื้อพุทราจะน่วมมีน้ำเยอะ พอมาใช้ชีวภัณฑ์ทำให้เนื้อแน่น รสชาติหวานอร่อย รูปทรงดี สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนี้ขายอยู่ที่ 60 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเชื่อมั่นในการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชว่าได้ผลดีจริง จนต้องผลิตไว้ใช้เองทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี

​หากเกษตรกรท่านใดอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงติดต่อได้ที่คุณปาลิดา นารีนุช ที่อยู่ 48 ม.4 บ้านยุบอีปูน ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เบอร์โทร.085-7740489 หรือขอคำแนะนำโดยตรงจากสำนักงานเกษตรใกล้บ้าน

No Comments

    Leave a Reply