ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ปัจจุบัน (4 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,097 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “โคนี” (พายุระดับ3 ) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในคืนพรุ่งนี้ (5 พ.ย. 63) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ย. 63 บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงสั่งการให้โครงการชลประทานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเดิมโดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ในส่วนทางภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 63 นี้ รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขต จ.สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน จะทำการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของนาปีที่ปลูกล่าช้า กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวไม่ให้ขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะทำการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก และงดทำนาต่อเนื่องหลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว พร้อมย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ เก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรให้มากที่สุด และสั่งการให้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่เคยถูกน้ำท่วม การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับช่วยเหลือประชาชนหากเกิดวิกฤติ รวมไปถึงการประสานแจ้งเตือนประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
No Comments