คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) จัดประชุมวิชาการ 13th THAICID National Symposium 2020 ภายใต้หัวข้อหลัก “70 ปีแห่งความมุ่งมั่น คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) และคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ในการเป็นองค์กรเครือข่ายสนับสนุนภารกิจ เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่เราต้องการ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมิติที่ 6 มุ่งเน้น การสรรสร้างนวัตกรรมในการจัดการน้ำชลประทานและการระบายน้ำ”
วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) เวลา 09.00 น. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทยกล่าวเปิดการประชุมวิชาการ การชลประทานและการระบายน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ผ่านระบบ e-Symposium ซึ่งถ่ายทอดสดจาก สถาบันพัฒนาการชลประทาน โดยมี อาจารย์วสันต์ บุญเกิด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน และประธานคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศของนาข้าว (INWEPF) ประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีในวาระครบรอบ 70 ปี ของ ICID และ THAICID ในการนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ THAICID ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านทาง Live onstage ณ Studio ชั้น 2 อาคารเรียน 2 สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการของ THAICID มีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นวัตกรรมต่างๆ ของงานชลประทานและการระบายน้ำของประเทศไทย ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ. 2563 นี้ เป็นวาระ 70 ปี ของ ICID และ THAICID ถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งความมุ่งมั่น คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) และคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ในการเป็นองค์กรเครือข่ายสนับสนุนภารกิจ เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่เราต้องการ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มิติที่ 6 มุ่งเน้นการสรรสร้างนวัตกรรมในการจัดการน้ำชลประทานและการระบายน้ำ
การจัดงาน THAICID Symposium ในทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างต้องอาศัยการพัฒนาเทคนิคความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จากเครือข่ายให้ดำเนินควบคู่ไปอย่างใกล้ชิดกับกระบวนการสร้างวัฒนธรรมระหว่างสมาชิกในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งการเติบโตขึ้นของชุมชน จะควบคู่ไปกับ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมหาแนวทางการป้องกันโดยมิได้อยู่แยกขาดจากบริบททางสังคมการเมือง หากแต่ความรู้ดังกล่าวนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากการปรับตัวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือ Disruption to the New normal ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานการประชุมทางวิชาการ จากรูปแบบเดิม มาเป็นรูปแบบ Online e-Symposium โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนผ่าน Digital Platforms มาช่วยให้การดำเนินงานทางวิชาการในครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจหลักของ THAICID อย่างมีประสิทธิภาพ และคงการเป็นประเทศศูนย์กลางแห่งวิชาการด้านการชลประทานการระบายน้ำและสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั้งใน และต่างประเทศอย่างยั่งยืน
ภายใต้วิกฤตของโลกในปัจจุบัน น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถป้องกันการระบาดอย่างเป็นวงกว้างได้ดีที่สุด ผ่านการจัดการทรัพยากรน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิต (WATER for ALL) ผ่านการชลประทานและการระบายน้ำ ทั้งโดยใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อันเป็นหนึ่งในการดำเนินการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมิติที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ
โดยกิจกรรมภายในงาน จะเน้นในเรื่องของ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สรรสร้างการจัดการทรัพยากรน้ำชลประทาน ให้คุ้มค่าทุกหยาดหยด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวดำเนินการในรูปแบบแบบปฏิสัมพันธ์ สหวิทยาการ และการบูรณาการมีส่วนร่วมด้านการชลประทานและการระบายน้ำ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนนวัตกรรมสรรสร้างเครื่องมือ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการจัดหาน้ำชลประทานให้เพียงพอในอนาคต ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านทาง เว็บไซต์ https://thaicid.rid.go.th/2020 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.30 น. ซึ่งในภาคเช้า จะมีปาฐกถาพิเศษ ของ Keynote Speakers 4 ท่าน ได้แก่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายชัยวัฒน์ ปรีชาวิทย์ อดีตรองประธาน ICID และที่ปรึกษากรมชลประทาน online และ นายสุริยัน วิจิตรเลขการ พร้อมด้วย นายพิริยะ อุไรวงค์ โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน : GIZ : German International Cooperation online สำหรับในภาคบ่ายจะมีการนำเสนอในรูปแบบ e-onstage Presentation การถ่ายทอดสดบทความ 8 บทความ ที่ผ่านการคัดเลือกจากบทความทั้งสิ้น 22 บทความ บนเวที e-onstage ซึ่งผู้สนใจสามารถโพสต์คำถามต่างๆ ในขณะที่รับชมได้ และผู้ดำเนินรายการจะดำเนินการถาม-ตอบให้ในลำดับต่อไป อีกทั้งยังคงสามารถดูคลิปวีดิโอซึ่งเป็นบทความที่ร่วมส่งเข้ามานำเสนอ รวมไปถึงโปสเตอร์นำเสนอบทความอีกด้วย
No Comments