ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รักษาการในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ ฝายแม่ปิงเก่า ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการฝายแม่ปิงเก่า(ฝายชลขันธ์พินิต) เป็นหนึ่งในโครงการฝายและประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงสายหลัก มีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมบางส่วนของ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน รวม 45,546 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ในเขต อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 17,384 ไร่ และในเขตอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 28,162 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกลำไยที่มีคุณภาพของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งในช่วงฤดูแล้งจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำโดยบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ตลอดแนวแม่น้ำปิงสายหลักทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดลำพูน) และภาคอุตสาหกรรม (การนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ) โดยอาศัยน้ำต้นทุนจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลที่อยู่ห่างออกไปกว่า 60 กิโลเมตร และเนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดมาตราการในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน และจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่โครงการฝายแม่ปิงเก่า กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานในพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาลกว่า 11,000 ครัวเรือน เป็นวงเงินกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ด้านนายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รักษาการในตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวถึงมาตรการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน (จ.เชียงใหม่-ลำพูน) ว่าสำนักงานชลประทานที่ 1 จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพตลอดลำน้ำแม่ปิง โดยการใช้อาคารชลประทานไม่ว่าจะเป็นประตูระบายน้ำ หรือฝายทดน้ำ ในการควบคุมปริมาณน้ำและบริหารจัดการน้ำในลำน้ำแม่ปิง อีกทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมคุณภาพของน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่หันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง และลดการเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำแม่ปิง เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศในลำน้ำ ทั้งนี้ขอให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำดำเนินการสูบน้ำตามรอบเวรที่จัดไว้สำหรับส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรต่างๆ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมตลอดฤดูแล้งนี้
No Comments