องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าจัดกลุ่ม “เนื้อสัตว์แปรรูป” เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ฯลฯ มีสารก่อมะเร็งในกลุ่มเดียวกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน และสารหนู ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และมีคำถามตามมาอีกมากว่า ถ้ามันอันตรายขนาดนั้นจะปล่อยให้มีการวางขายให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รับประทานทำไม
รัฐบาลออสเตรเลียโดยนายบาร์นาบี จอยซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ถึงกับออกแถลงการณ์ตอบโต้รายงานชิ้นนี้ของ WHO ว่าเป็นเรื่องตลกและไม่สมเหตุสมผลที่จะเปรียบเทียบความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจากการบริโภคไส้กรอกกับการสูบบุหรี่ ขณะที่รัฐบาลเยอรมนี โดยนายคริสเตียน ชมิดต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรกร กล่าวตำหนิว่า ประชาชนอาจกังวลโดยใช่เหตุ หากจัดเนื้อแปรรูปอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหินหรือบุหรี่ พร้อมแนะนำประชาชนของเขาว่า “ไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะรับประทานไส้กรอก (bratwurst) มันก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณ บางอย่างที่มากเกินไปก็มักไม่ดีต่อสุขภาพเสมอ” ไม่เพียงเท่านั้น สภาเนื้อแคนาดา ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและปฏิเสธไม่ยอมรับรายงานฉบับนี้ ส่วนแถลงการณ์ของสมาคมเนื้อสัตว์อเมริกาเหนือ (NAMI ) ถึงกับโจมตี IARC และ WHO ว่าบิดเบือนข้อมูล
เห็นแรงกระเพื่อมทั่วโลกขนาดนี้ ต้นเหตุอย่าง WHO ก็คงสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากการรายงานของตน จึงออกแถลงการณ์ตามมาว่า รายงานดังกล่าวเพียงต้องการรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ “ด้วยความพอดี” เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ให้ประชาชนยุติการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นการถาวรแต่อย่างใด
คาน่า วู สมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งและนักวิจัยวิทยาศาสตร์อาวุโสของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวย้ำว่า “องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งไม่ได้วัดระดับความเสี่ยงของสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งและแม้ว่าบุหรี่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มดียวกับเนื้อสัตว์แปรรูป แต่ระดับความเสี่ยงโดยตรงจากบุหรี่นั้นสูงกว่ามาก”
WHO คงลืมไปว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรระดับโลก การสื่อสารหรือเผยแพร่รายงานใดออกมาจำเป็นต้องได้รับการกลั่นกรองให้สามารถสร้างความเข้าใจกับผู้คนได้อย่างไม่ต้องมีการตีความ หรือคาดเดาอะไรอีก เคสเนื้อแปรรูปนี้ จึงเป็นตัวอย่างของการสื่อสารที่ส่งผลเสียต่อเครดิตของ WHO ไม่น้อย… ความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารดังกล่าว ยังคงตกค้างในความรู้สึกของคนทั่วโลก สร้างรอยแผลให้กับเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป รวมไปถึงผู้บริโภคที่ตื่นกลัวกับคำเตือนดังกล่าว ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเครื่องมือในการโฆษณาให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์และกลุ่มรณรงค์รับประทานอาหารมังสวิรัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ดังตัวอย่างข้อความของ ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ที่ระบุว่า “ถ้าจะลดจำนวนคนเป็นมะเร็ง การลงทุนลงแรงรณรงค์ไม่ให้คนเข้าถึงบุหรี่จะมีประสิทธิภาพกว่ามาก รองลงมาคือการงดเหล้าและลดน้ำหนัก การงดเนื้อสัตว์ ไม่สามารถป้องกันมะเร็งได้อย่างชะงัด อย่างมากก็แค่ลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่ลดความเสี่ยงมะเร็งอื่น ดังนั้น ถ้าชอบกินก็ควรกินต่อไป แต่ลดลงบ้างแล้วกินผักเพิ่ม ผลไม้เพิ่มเยอะๆ” ยิ่งเห็นภาพชัดเจน
โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนไทยเราไม่ได้บริโภคไส้กรอกกันเป็นอาหารหลักหรือมากเท่ากับคนในชาติตะวันตก เช่น เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ดังนั้น การบริโภคไส้กรอกในปริมาณที่เหมาะสม และรับประทานอาหารที่หลากหลายยึดหลักการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งเนื้อ นม ไข่ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ก็ส่งผลถึงการมีสุขภาพที่ดีของทุกคนได้แล้ว.
No Comments