กรมวิชาการเกษตรเปิดชุมชนโชว์งานวิจัยชุมชนต้นแบบการผลิตพืช โดยใช้ศาสาตร์พระราชา พร้อมเปิดกว้างทุกหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงาน
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกระแสโลกาภิวัติ วิกฤตแห่งสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กดดันให้เกษตรกรรายย่อย เกิดความเปราะบางเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านประสิทธิภาพทางการผลิตที่ต่ำลง ความสามารถในการแข่งขันน้อยลง มีรายได้ที่ไม่สมดุลกับรายจ่าย ขาดความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ไม่พอเพียง และพึ่งตนเองได้น้อยลง
กรมจึงได้ได้มอบหมายให้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.) และเครือข่าย สวพ.1-8 ได้ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ โดยจัดทำ “แผนงานวิจัยการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรกร” ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ต่างๆจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย
ซึ่งผลการวิจัยและพัฒนาในช่วงปี 2559-2563 ได้มีการค้นพบเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสม 28 เทคโนโลยี เช่น การผลิต ถั่วเขียว ถั่วลิสง กระเทียม ลำไยอินทรีย์ในภาคเหนือตอนบน การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง มะม่วง ลองกอง ทุเรียน และการใช้สารเคมีที่ถูกต้องบนพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนล่าง การผลิตพริก ถั่วลิสง มะม่วง มันสำปะหลัง มะเม่า คราม มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักสดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การผลิตอ้อย และแก้ปัญหาการผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็ม และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและที่ดินในไร่นา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การผลิตส้มโอ กล้วยหอม ทุเรียนก้านยาวในภาคกลางและตะวันตก การผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ สับปะรด ลำไย มะม่วง ลองกอง และกล้วยไข่ในภาคตะวันออก การผลิตปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว ผักเหลียง ผักพูม หมาก จำปาดะ ทุเรียนสาลิกา ลังแข และละไม ร่วมกับพืชหลักในภาคใต้ตอนบน การผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ข้าวโพดหวาน ส้มโอ การเพาะเห็ด พืชพื้นเมือง มันปู ชะมวง กาแฟโรบัสตา และการผลิตพืชโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตพืชในภาคใต้ตอนล่าง และการผลิตบัว หน่อไม้น้ำ กระจูด กก ดาหลา จาก คล้า และจัดการระบบการผลิตพืชชุ่มน้ำแบบผสมผสาน ในพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคต่างๆ
นอกจากนี้ ในปี 2564 ได้มีการนำผลการวิจัยเหล่านี้มาทดลองขยายการผลิตก่อนที่จะนำไปถ่ายทอดในสู่วงกว้างให้นักส่งเสริม โดยมีการดำเนินงาน คือ 1) ทำการขยายการผลิตแปลงใหญ่ประมาณ 100 ไร่ต่อชุมชน 2) พัฒนาแฟลตฟอร์มนวัตกรรมการนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ 3) การศึกษาผลกระทบผลงานวิจัย และ การยอมรับเทคโนโลยี และ4) ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บุคคลเป้าหมาย ดำเนินการใน 10 จังหวัด 10 ชุมชน คือ จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี ลำปาง พิษณุโลก หนองบัวลำพู บุรีรัมย์ อยุธยา และ ตราด ซึ่งชุมชนต่างๆเหล่านี้จะเป็นชุมชนต้นแบบที่จะเป็นสถานที่ศึกษาดูงานแก่เกษตรกรในชุมชนอื่นๆได้ ต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สวพ.1-8
สำหรับพื้นที่จังหวัดสงขลา สวพ.8 นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดี กรมวิชาการเกษตร และนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้เป็นประธานในการเปิดชุมชนต้นแบบ 3 ชุมชน คือ “รำแดงโมเดล เกษตรตามศาสตร์พระราชา ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” “ป่าขาดโมเดล เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” และ “บ้านแคโมเดล ชุมชนพอเพียง เกษตรยั่งยืน ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา” โดยทั้ง 3 ชุมชนนี้ได้นำผลงานวิจัยการนำศาสตร์พระราชา เรื่อง 23 หลักทรงงาน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการจัดการผลิตพืชเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของครัวเรือนและชุมชนเกษตร โดยจะมีหลักปฏิบัติ 4 เสาหลักของการพัฒนา คือ เสาหลักที่ 1 พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เสาหลักที่ 2 พัฒนา 9 พืชผสมผสานและเกษตรผสมผสานพอเพียง เสาหลักที่ 3 พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และเสาหลักที่ 4 เชื่อมโยงการผลิตพืชกับการท่องเที่ยวชุมชน และเครือข่ายการพัฒนาต่างๆ
ผู้สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ชุมชน หรือ สวพ.8 สงขลา โทร 074445905-7
ผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิสังคมที่ดำเนินการโดย สวพ.1-8 นี้ จะเป็นงานวิจัยที่ทำให้ชุมชนเกษตรพึ่งตนเองได้มากขึ้นตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยการพัฒนา เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรแปรรูป เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ และระบบนิเวศน์เกษตร ตอบสนองยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ ในแพลตฟอร์มที่4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โปรแกรม 13 ในการสร้างนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง ด้วยการสร้างนวัตกรรมชุมชน เกิดเป็นชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ ตามแผนงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเกษตรกรรม ”
No Comments