News

สวพ.1-8 กรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังขยายผลงานวิจัยสู่เกษตรกร

25/03/2021

สวพ.8 เขตทั่วประเทศ ระดมความคิดเห็นการดำเนินงานวิจัย ปี 2564 พุ่งเป้าวิจัยพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม เสริมแกร่งเข้มแข็งชุมชนเกษตรกรรมสู่ความเข้มแข็งยั่งยืน

นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา ได้มีการจัดประชุมนักวิจัยของ สวพ.ทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดเห็นการดำเนินงานวิจัย ปี 2564 ของแผนงานวิจัย การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเกษตรกรรม

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีสวพ.ตั้งอยู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศจำนวน 8 แห่ง มีหน้าที่หลักที่สำคัญคือ การค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร งานวิจัยจะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการผลิตพืชที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้านวิจัยเพื่อใช้ศักยภาพหรือโอกาสของของแต่พื้นที่ และด้านการวิจัยโดยนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้เพื่อพัฒนายกระดับความสามารถทางการผลิตของเกษตรกรและชุมชนเกษตร โดยแต่ละ สวพ จะมีการวิจัยในชนิดพืชที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ และจะมีการร่วมมือกันวิจัยในประเด็นที่สำคัญที่เป็นโจทย์ของประเทศ

ด้านนายธัชธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนเกษตรกรรม กล่าวว่า ในแผนงานวิจัยนี้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559-2564 โดยใน 3 ปีแรกจะเป็นการค้นคว้าหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และใน 2 ปีหลังจะเป็นการทดลองขยายการผลิตในสภาพแปลงใหญ่ หรือเป็นชุมชน ก่อนที่จะแนะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ให้นักส่งเสริมหรือเกษตรกร นำไปถ่ายทอดขยายผลต่อไป โดยจะมีแผนงานวิจัยย่อยทั้งหมด 10 แผนงานวิจัยย่อย คือ วิจัยและพัฒนาการผลิตพืชที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์ในภาคใต้ตอนล่าง (สวพ.8 สงขลา) พัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคใต้ตอนล่าง (สวพ.8) วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำใช้ประโยชน์ด้านเกษตรและอุตสาหกรรม (สวพ.8) วิจัยและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน (สวพ.7 สุราษฎร์ธานี) การวิจัยทดสอบและพัฒนาระบบการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก (สวพ.6 จันทบุรี) ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลและพืชผักที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก (สวพ.5 ชัยนาท) พัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการผลิตพืชในพื้นที่นาโดยใช้แหล่งน้ำในระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สวพ.4 อุบลราชธานี) พัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการจัดการปุ๋ยอ้อยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สวพ.4 ) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชทางเลือกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดินเค็มจังหวัดนครราชสีมา (สวพ.4) และ ทดดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่และถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคมเกษตร (สวพ 1-8)

ขณะนี้ได้มีผลงานวิจัยต่างๆ ออกมาไม่ต่ำกว่า 28 เทคโนโลยี และจะมีการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) ใน 10 เรื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ในพื้นที่ต่างๆ เช่น “ป่าขาดโมเดล เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ” ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา “Wetland Model การเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ” ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และ ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง “หิน เหล็ก ไฟ โมเดล ชุมชนผลิตอ้อยยั่งยืน” ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ “เมืองมายโมเดล ถั่วลิสงพืชใช้น้ำน้อย สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้สู่ชุมชน”ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ” บ่อโพธิ์โมเดล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ ชุมขนเข้มแข็ง ” ตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก “นาคูโมเดล พืชผักปลอดภัยและยั่งยืนระดับชุมชน” ตำบลนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดอยุธยา “หนองบัวลำภูโมเดล ระบบการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าว” ตำบลโนนสะอาด อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู “ท่ากุ่มเนินทรายโมเดล เทคโนโลยีผสมผสานในการผลิตทุเรียน ” กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย อำเภอเมือง จังหวัดตราด “โพรงเข้โมเดล ปาล์มน้ำมันยั่งยืน” ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรังทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้จาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

 

No Comments

    Leave a Reply