News

ชป.คุมเข้มแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง63/64 บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับมติ ครม.อย่างเคร่งครัด

28/12/2020

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 63/64 หลายพื้นที่น้ำต้นทุนมีน้อย ขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (21 ธ.ค.63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน ทั้งสิ้น 47,340 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 23,409 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,964 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 5,268 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,341 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,164    ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของแผนฯ จะเห็นได้ว่าในปี 63 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้การเพาะปลูกข้าวนาปีล่าช้าออกไปเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งกรมชลประทานจะให้การช่วยเหลือจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คาดว่าภายในเดือนมกราคมปี 64 จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 9 มาตรการ และตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อคุมเข้มแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 63/64  โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ที่ฤดูแล้งนี้น้ำต้นทุนมีน้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ ต้องสำรองน้ำไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก โดยได้เน้นย้ำให้บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ร่วมกันรณรงค์การปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรฯ โดยการจ้างแรงงานชลประทาน เข้าร่วมปฏิบัติงานโครงการชลประทานใกล้บ้าน เพิ่มบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรด้วย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดนราธิวาส ยะลา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ยังคงมีบางพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนบางลาง จังหวัดปัตตานี ที่ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 17 เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกรอบ ในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 63 ถึง 1 มกราคม 64 ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมบูรณางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีเพิ่มมากขึ้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามแนวทางในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด โดยไม่กระทบต่อการดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดต่อสื่อสารเรื่องการบริหารจัดการน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมตรวจสอบและคัดกรองแรงงานชลประทานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเข้มงวด กำหนดให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น  รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักตามมาตรการของจังหวัด รวมไปถึงการทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ทุกครั้ง ก่อนนำออกไปปฏิบัติงาน

No Comments

    Leave a Reply