News

ชป.ร่วมประชุม กนช.นัดพิเศษ เตรียมพร้อมมือฤดูฝนหน้า

25/03/2021

 เช้าวันนี้(25 มี.ค. 64)ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) นัดพิเศษ

โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายธีระพล  ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม แนวทางการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน รวมทั้งมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งการปรับปรุงแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2565 และแผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ตลอดจนการจัดทำขอบเขตสำหรับการหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทย (Terms of Reference (TOR) for a National Dialogue on Water in Thailand)

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานควบคุมการจัดสรรน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด เนื่องจากพบว่าปัจจุบัน มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2(นาปรัง)เกินแผน โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุน เพื่อลดการใช้น้ำในระดับ ตำบล และจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน (RoadMap) ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งมีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 และมาตรการการรับมือฤดูฝน ปี 2564  โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการในการทำงานร่วมกัน อาทิ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก การทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ การปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 64 ให้สอดคล้องตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ด้วยการ กำหนดพื้นที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทภัยซ้ำซาก พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่เกณฑ์ที่กำหนด  วางแผนการปลูกพืชฤดูฝน รวมทั้งเลื่อนเวลาการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ(ทุ่งบางระกำ) เพื่อใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ การกำหนดคนและทรัพยากร การติดตามวิเคราะห์แนวโน้นสถานการณ์น้ำ การประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ  และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

No Comments

    Leave a Reply