PR NEWS

เลิกคิดนำเข้าเนื้อหมู จุดตายคนเลี้ยง จุดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย

14/01/2022

กว่า 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่องสินค้าอาหารปรับขึ้นราคา กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกวงการพูดถึง แต่ไม่ใช่ประเทศไทยที่ประสบปัญหานี้เท่านั้น แต่การปรับตัวของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นไปตามกลไกตลาดอาหารโลก สอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก FFPI (FAO Food Price Index) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานของปี 2564 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่เมื่อปี 2554

 

เรื่องนี้ถูกยกระดับให้เป็นประเด็นสำคัญของประเทศ และกำลังเข้าสู่กระบวนการแก้ไข โดยนายกรัฐมนตรีลงมาสั่งการเอง เน้นการแก้ปัญหาทุกจุดโดย “ไม่ให้กลไกตลาดเสียหาย” โดยเฉพาะเรื่องราคาหมูและเนื้อหมู ที่นายกฯ เข้าใจในปัญหาเป็นอย่างดี ว่าเป็นไปตาม “กลไกตามตลาด” เมื่อสินค้ามีน้อย ความต้องการมาก ราคาก็ปรับสูงขึ้น

ตอนนี้การแก้ปัญหาเริ่มดำเนินการตามมาตรการ ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยทุกภาคส่วนกำลังเร่งแก้ไข ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตร ระดมกำลังทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีผลผลิตหมูป้อนตลาดให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก ที่หยุดการเลี้ยงไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด ครม. อนุมัติงบประมาณฯ 570 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเกษตรกรรายย่อย ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาโรคระบาด ซึ่งผู้เลี้ยงทั่วประเทศพร้อมเข้าเลี้ยงรอบใหม่ ขอเพียงรัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้รวดเร็ว

แม้วันนี้จะพบโรค ASF ในโรงเชือดที่นครปฐม ก็ถือว่าไทยเป็นประเทศท้ายสุดของเขตรอบบ้านเรา ที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ เพราะที่ผ่านมาคนในวงการหมูได้ร่วมมือกันป้องกันอย่างเต็มกำลัง ทั้งกรมปศุสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง สมาคม ภาคเอกชน นักวิชาการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งกรมปศุสัตว์กำลังสอบสวนโรคและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เรื่องนี้ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า การตรวจพบโรคนี้ เป็นเรื่องปกติและมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ในการซื้อ-ขาย ส่งออก หรือบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากโรคระบาดในสัตว์มีโอกาสเป็นได้ แต่ที่สำคัญมาตรการหลังจากประกาศโรคระบาดแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างชัดเจน ซึ่งไทยมี พรบ.โรคระบาดสัตว์ บังคับใช้อยู่ และมีการกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกร การชดเชย รวมถึงวิธีปฏิบัติทำลายซากสัตว์ที่ชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่น่าจะมีปัญหา

สำหรับภาคเกษตรกรผู้เลี้ยง และกรมปศุสัตว์ ก็อย่าเพิ่งท้อหรือถอดใจ แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา เร่งฟื้นอาชีพเกษตรกรให้ได้ โดยภาครัฐต้องรีบสนับสนุนผู้เลี้ยงกลับเข้ามาในระบบให้เร็วที่สุด ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสม ควบคู่กับการเยียวยา-ชดเชยความเสียหายของเกษตรกร ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ มีมาตรการช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปล่อยให้ “ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด” ซึ่งเป็นทางออกที่ดีของเรื่องนี้ และช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมหมูไทยได้

ส่วนแนวทางการแก้ไขด้วยการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนั้น ต้องคิดให้รอบคอบรอบด้าน ตัวอย่างเรื่องนี้มีให้เห็นแล้ว ในสมัยที่ อมเรศ ศิลาอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา ขนาดว่ามาแค่ 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ยังกระทบด้านจิตวิทยาอย่างหนัก ทำให้ราคาหมูในประเทศร่วงลงทันที จนต้องระงับการนำเข้าในที่สุด และถือเป็นบทเรียนสำคัญต่อเกษตรมาจนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญ หมูนอกจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคนไทยที่ต้องเสี่ยงกับ “ความไม่ปลอดภัยในอาหาร” จากสารปนเปื้อนอันตรายต่อสุขภาพที่มากับชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมูที่อาจติดมาด้วย และยังทำให้วงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรมต้องเสี่ยงกับความ “ล่มสลาย” เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยได้ หากเกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงหมู และหันไปพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น ย่อมทำลาย “ความมั่นคงทางอาหารของไทย” อย่างแน่นอน

แต่ถ้าหากจำเป็นต้องนำเข้าจริง ก็ควรเลือกนำเข้าหมูเป็นที่มาจากฟาร์มปลอดโรคจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะใช้ระยะทางและเวลาในการขนส่งไม่มาก เพื่อรองรับความต้องการของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะสั้นๆ โดยต้องผ่านการตรวจรับรองจากประเทศไทยก่อนเท่านั้น

จะว่าไปแล้วคนเลี้ยงหมูเป็น “อาชีพที่น่าเห็นใจ” เพราะที่ผ่านมาต้องแบกภาระหมูเสียหาย ราคาตกต่ำ ต้องทนขาดทุนมานานกว่า 3 ปี ทำฟาร์มหมูเจ๊งไปเกินครึ่ง ซ้ำยังเจอปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น รวมถึงภาวะโรคในหมูที่ต้องรับมือ แต่กลับไม่เคยมีใครช่วย ราคาหมูที่ปรับขึ้นตามกลไกตลาด ในช่วง 1 เดือน ทำให้ “เกษตรกรแค่พอลืมตาอ้าปากได้” มีรายได้ใช้หนี้สินค้างเก่า และพอมีทุนรอนเลี้ยงหมูรุ่นใหม่ได้เท่านั้น

วันนี้ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องยื่นมือมาช่วย ยามทุกข์ต้องร่วมกันต้าน ถ้าคนเลี้ยงหมูไปต่อได้ คนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็อยู่ได้ ชาวนามีตลาดสำหรับขายปลายข้าวในราคาสูง รวมถึงธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ย่อมเดินหน้าต่อไปได้

ความเข้าใจทั้งเรื่องกลไกตลาด และคนเลี้ยงหมูมีอาชีพเดียวไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ คือทางออกของปัญหา โดยต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไก ส่วนผู้บริโภคซึ่งมีทางเลือกในการบริโภคอยู่แล้ว หากเห็นว่าราคาสูงก็หันไปเลือกเนื้อไก่ ไข่ไก่ เนื้อ หรือปลา ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีเช่นเดียวกัน มาบริโภคทดแทนไปก่อน ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาตามมาตรการต่างๆที่ออกมาอย่างจริงจัง เท่านี้ปัญหาหมูก็จะคลี่คลายได้อย่างแน่นอน…

 

No Comments

    Leave a Reply