กรมวิชาการเกษตร ลุยต่อยอดผลิตพืชปลอดภัยมาตรฐาน GAP ลำไยคว้าแชมป์ผ่านรับรองมากสุด ตั้งเป้าปี 64 มุ่งรักษาแปลงเก่าพร้อมเพิ่มแปลงใหม่ยอดรวมกว่า 1 แสนแปลง ดันเกษตรกรรีบสมัครเข้าระบบก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด ชี้ GAP ช่วยยกระดับผลผลิตขึ้นห้าง เป็นใบเบิกทางส่งออกคู่ค้าสำคัญทั้งจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย หรือมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น จนทำให้กฎระเบียบต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นมามากมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อส่งออกรายใหญ่ของโลกจึงต้องปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตร โดยเร่งผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรสมัครเข้าสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรที่ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดตั้งแต่กระบวนการผลิตในไร่นาไปจนถึงมือผู้บริโภค
กรมวิชาการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ได้จัดทำแผนการตรวจรับรองเป็นประจำทุกปีโดยแยกเป็นตรวจแปลงใหม่ที่ยื่นสมัครขอรับการรับรอง ตรวจต่ออายุแปลง และตรวจติดตามแปลงที่ใบรับรองยังไม่หมดอายุ โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายการตรวจรับรองแปลงทั้ง 3 ประเภทไว้จำนวน 120,000 แปลง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ซึ่งการเข้าสู่ระบบดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิต และใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย และสารเคมีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตที่ได้รับมีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารตกค้างและการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าสามารถนำไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีแปลงที่ผ่านการตรวจรับรองและได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรจำนวน 210,461 แปลง คิดเป็นพื้นที่กว่า 1,380,000 ไร่ โดยพืชที่ผ่านการรับรองมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลำไยจำนวน 39,128 แปลง ทุเรียนจำนวน 35,785 แปลง มังคุดจำนวน 21,419 แปลง กลุ่มพืชผัก 20,000 แปลง และมะม่วงจำนวน 7,160 แปลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรฐาน GAP ไม่ใช่มาตรฐานบังคับแต่เป็นความสมัครใจของเกษตรกร จึงต้องการให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและสมัครเข้าสู่มาตรฐานGAP กันให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญต่ออาหารที่มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรจึงต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานความปลอดภัย นอกจากนี้ประเทศที่นำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะเน้นมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารเป็นหลัก ดังนั้น GAP จึงเหมือนเป็นใบเบิกทางช่วยให้เกษตรกรที่ต้องการต่อยอดการขายสินค้าในประเทศให้สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้
เกษตรกรที่สนใจสมัครขอรับรองมาตรฐาน GAP ควรวางแผนยื่นคำขอการตรวจรับรองก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยสามารถยื่นคำร้องขอรับรองได้ที่หน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทุกจังหวัด หรือที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตทั้ง 8 เขต รวมทั้งยังเปิดช่องทางให้สามารถดาวน์โหลดแบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ทั้งแบบรายเดี่ยวและแบบกลุ่ม ได้ที่เว็บไซต์ http://gap.doa.go.th/estimate
No Comments