News

“กลไกตลาดเสรี” ทางออกหมูๆ

17/01/2022

ทำเอาอึ้งทึ่งกับไอเดียแก้ปัญหาหมูแพง ของเด็กน้อยจากเชียงราย วัย 14 ปี กับ 3 แนวทาง ระยะแรก ชดเชยเกษตรกรที่ขายหมูขาดทุน พร้อมเร่งส่งเสริมการสร้างรายได้จากหมู ส่งเสริมแม่พันธุ์, ระยะกลาง ให้เกษตรกรกู้เงินระยะสั้น เอาไปพัฒนาฟาร์มหมูให้สามารถป้องกันโรคได้ และระยะสุดท้าย ส่งเสริมบูรณาการทุกอย่าง ทำเป็น Smart Farmer ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาจัดการ รวมถึงส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุณภาพหมู คุณภาพสินค้า และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ

นี่คือทางออกของปัญหาจากความคิดของเยาวชน ที่หากภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปคิดตาม ทำต่อ และรัฐต้อง “แก้ไขทั้งระบบในทันที” จะช่วยคลายปัญหาที่เป็นอยู่ได้แน่

นอกจากไอเดียที่ว่าแล้ว ต้องเสริมอีกประเด็นสำคัญ คือ “การปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี” ซึ่งถือเป็นทางออกสำคัญของปัญหา เพราะตราบใดที่ทุกฝ่ายมุ่งแก้ปัญหาด้วยวิธีการมากมาย ทั้งสนับสนุนการผลิตเพื่อให้มีปริมาณหมูป้อนตลาดเร็วที่สุด การจูงใจผู้เลี้ยงด้วยมาตรการสนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ราคาสูงต่อเนื่อง เช่น กากถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการลดภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์ หรือการพัฒนากระบวนการเลี้ยงสัตว์ให้เข้าสู่มาตรฐาน ทั้ง GFM สำหรับฟาร์มรายย่อยและฟาร์มรายเล็ก และ GMP สำหรับฟาร์มหมูรายกลางและรายใหญ่

แต่ถ้ายังคงมีมาตรการ “คุมราคาหมูหน้าฟาร์ม” อย่างที่รัฐทำมาตลอด สิ่งที่พยายามแก้ไข มาตรการต่างๆที่ออกมานั้น ย่อมล้มเหลว และจะลดแรงจูงใจของพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเตรียมกลับมาในระบบ เพราะรู้ว่าถึงจะพยายามลงทุนเลี้ยงหมูซัพพอร์ทตลาดเท่าไหร่ ก็ต้องถูกควบคุมไม่ให้ราคาเป็นไปตามกลไกอยู่ดี

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการเลี้ยงหมูนั้น ถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล หากจะให้รูปแบบการเลี้ยงเป็นไปตามข้อกำหนด หรือมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด ยังไม่นับการลงทุนทั้งค่าสร้างโรงเรือน อุปกรณ์ ระบบการจัดการของเสียภายในฟาร์ม ไหนจะพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ วัคซีนและยารักษาโรค ค่าจัดการด้านการป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการต่างๆ

ในขณะที่ รายได้ของเกษตรกรต้องแขวนไว้กับปริมาณผลผลิต และการบริโภคในขณะนั้น เป็นปัจจัยชี้วัด ว่าจะขาดทุน หรือมีกำไร และยังต้องลุ้นกับมาตรการควบคุมราคาอย่างที่ผ่านมา เมื่อราคาสินค้าพอจะมีแนวโน้มขยับขึ้นบ้างตามกลไกตลาด จากผลผลิตที่ไม่พอกับการบริโภค ทุกครั้งจะต้องมีการขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกร ให้ตรึงราคาขาย เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค แต่กลับไม่เคยเห็นความช่วยเหลือใดๆ ในยามที่คนเลี้ยงต้องประสบภาวะขาดทุน
นี่คือความทุกข์ที่เกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนมานานกว่า 3 ปี แต่จำต้องยอม เพราะ “เกษตรกรเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียว” ไม่ได้มีทางเลือกอาชีพ ในเมื่อลงเลี้ยงหมูแล้ว ถึงเวลาขายจะได้ตัวละกี่บาทก็จำเป็นต้องขาย แม้รู้ว่าต้องขาดทุน และยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะโรคระบาดที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเกษตรกร ทั้งยังมีต้นทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง บางฟาร์มต้นทุนหมูเป็น พุ่งไปกิโลกรัมละ 120 บาทแล้ว จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น และต้นทุนแฝงจากการป้องกันโรคที่สูงถึงตัวละ 500 บาทแล้ว

เมื่อปัญหารุมเร้ารอบด้าน แต่ต้องขายหมูขาดทุนต่อเนื่อง คนเลี้ยงก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้เกษตรกรเหลือไม่ถึงครึ่ง ปริมาณหมูจึงหายไปมากกว่า 40% แต่เมื่อการบริโภคกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐคลายล็อกสถานการณ์โควิด-19 ผู้คนออกมาจับจ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หมูขาดตลาด พ่อค้าต้องแย่งกันซื้อ

ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ซัพพลายกลับน้อยลง กลไกตลาดที่แท้จริงจึงทำงาน แต่ใช่ว่าเกษตรกรจะมีกำรี้กำไร คนเลี้ยงหมูเพิ่งขายหมูได้ไม่ถึงเดือน แค่พอมีรายได้ที่ช่วยลดความบอบช้ำจากภาวะขาดทุนสะสมตลอด 3 ปี เพียงแค่ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้คนเลี้ยงหมูเท่านั้น

“ความเข้าใจจากผู้บริโภค” ถือเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดของเกษตรกร หากรู้สึกว่าราคาสินค้าสูง ก็หันไปรับประทานอย่างอื่นทดแทนไปก่อน ที่สำคัญคือ “ต้องปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี” โดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซง เป็นทางออกหมูๆ ที่ทำง่ายและเห็นผลเร็วที่สุด./

No Comments

    Leave a Reply