วันนี้ (10 ต.ค. 64) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชี โดยมี นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป ณ เขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกเขื่อนในลำน้ำชีได้ยกบานพ้นน้ำทั้งหมดแล้ว โดยเขื่อนยโสธร-พนมไพร ระดับน้ำอยู่ที่+124.90 ม.รทก. อัตราการระบายน้ำ 662 ลบ.ม./วินาที ยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม แนวโน้มระดับน้ำลดลง ส่วนเขื่อนธาตุน้อย ซึ่งเป็นเขื่อนตัวสุดท้ายในลำน้ำชีก่อนที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำมูล ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +117.15 ม.ราก. อัตราการระบายน้ำ 1,020 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก 8,460 ไร่ ซึ่งเป็นป่าบุ่ง ป่าทาม และพื้นที่การเกษตรที่เก็บเกี่ยวไปแล้วบางส่วน ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังสูงอยู่
คาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจากทางตอนบน ที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่บริเวณจังหวัดมหาสารคาม จะเดินทางมาถึงเขื่อนยโสธร-พนมไพร ประมาณวันที่ 15 ต.ค. 64 ในขณะที่พนังกั้นแม่น้ำชีของเขื่อนยโสธร-พนมไพร สามารถรองรับน้ำได้ถึง 1,700 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าคันพนัง 2 เมตร จึงสามารถรองรับน้ำปริมาณดังกล่าวได้ แต่จะมีผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก ก่อนที่ยอดน้ำดังกล่าวจะเดินทางมาถึงเขื่อนธาตุน้อยในวันที่ 18 ต.ค. 64 ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณเขื่อนธาตุน้อย มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 0.50-0.80 เมตร จะทำให้เกิดน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นป่าบุ่งป่าทามและพื้นที่การเกษตร ที่เก็บเกี่ยวแล้วบางส่วน
กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องพลักดันน้ำ 26 เครื่อง รถแบคโฮ รถบรรทุก กระสอบทรายและหน่วยเคลื่อนที่เร็ว สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปพบปะชาวค้อทอง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่
สำหรับ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านแก้งโพธิ์ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เกิดจากประชาชนในพื้นที่ ต.ค้อทอง ประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม และมีความต้องการโครงการฯดังกล่าว กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ หากสามารถดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 2,800 ไร่ สามารถเพิ่มประมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำหนองเหล่าหิน ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัยฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างอาชีพ และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
No Comments