News

มกอช. เดินหน้ายกระดับ Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม รองรับ Next Normal ใช้วัตถุดิบปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

08/04/2022

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายรองรับ Next Normal พัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนในปี 2565 โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวง ให้บรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร โดยการวางรากฐานในการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงฯ โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การผลิต – เชื่อมโยงทรัพยากรการผลิตยั่งยืน เน้นผลิตสินค้ามูลค่าสูง ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร/สุขภาพ พืชพลังงานทดแทน และผลักดันระบบฟาร์มอัจฉริยะ 2) การแปรรูป – เน้นสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วย BCG Model การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (GMP HACCP ฯลฯ) และ 3) การตลาด – เน้นการนำเสนอคุณค่าต่อผู้บริโภค (การสร้าง Story) การสร้างสรรค์ packaging/branding การทำ Online Marketing และการสร้างประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตร
ทั้งนี้ การดำเนินการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ ร้าน จากทั่วประเทศ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย เลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) และจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการ Q Restaurant ในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร ส่งผลต่อการผลักดันให้แนวนโยบายของกระทรวงฯ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ โดยตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีร้าน Q Restaurant ที่คงสถานะการรับรอง 3,022 แห่ง/สาขา ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น ร้านอาหาร 2,363 แห่ง และร้านอาหารหลายสาขา 2 แห่ง รวม 659 สาขา (MK และยาโยอิทุกสาขาทั่วประเทศ)

นอกจากนี้ มกอช. ยังได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ยกระดับร้าน Q Restaurant ให้เป็นร้านอาหาร Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสินค้า Q ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร Q Restaurants เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ มกอช. และเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานกับผู้บริโภค เป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและการทำงานแบบบูรณาการ พัฒนายกระดับคุณภาพร้านอาหารสู่วิถีชีวิตใหม่ ภายใต้ BCG Model เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ให้เป็นร้านอาหาร Q ระดับพรีเมี่ยม
โดยที่ผ่านมา มกอช. ให้การรับรอง Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม รวมทั้งสิ้น 32 ร้าน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ชัยภูมิ เพชรบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ พัทลุง และกรุงเทพมหานคร และในปีงบประมาณ 2564 – 2565 มีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จำนวน 10 จังหวัด แจ้งความประสงค์ที่จะยกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม รวม 33 แห่ง

“ขอฝากประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) จำนวนเป้าหมายในการตรวจรับรอง Q Restaurant เป็นสิ่งที่ทุกจังหวัดตั้งเป้าหมายที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรเน้นเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และควรแนะนำแหล่งวัตถุดิบปลอดภัย หรือฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แหล่งจำหน่าย ตลาดเกษตรกร ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการได้จัดหาวัตถุดิบปลอดภัยเข้าร้านให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของร้าน คือ จะต้องมีการตรวจติดตามร้านอาหารที่ผ่านการรับรองปีละ 1 ครั้ง ว่ายังคงรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้หรือไม่ 2) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ผู้บริโภครู้จัก Q Restaurant และแหล่งจำหน่ายสินค้า Q ต่างๆ นั้น ควรเน้นสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจและรู้จักสินค้า Q มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งในสถานการณ์ Covid-19 ประชาชน มีการปรับรูปแบบการดําเนินชีวิตโดยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่มีการดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านที่ต้องมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ดังนั้น Q Restaurant จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารที่ได้มาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันของสุขภาพ” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
สำหรับร้านที่จะเข้าร่วมโครงการ Q Restaurant จะต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่ 1) มีสุขลักษณะเบื้องต้นที่ดี 2) วัตถุดิบหลักที่ประกอบอาหารต้องเป็นสินค้า Q หรือเป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรอง หรือเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตรับรองตนเองโดยผ่านการตรวจสอบสารพิษตกค้างจากเจ้าหน้าที่ 3) มีเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบหลักที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของแต่ละวัตถุดิบที่ขอการรับรอง 4) ใบรับรองมีอายุ 3 ปี และจะต้องมีการตรวจติดตามอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ 5) ผ่านการตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการตรวจรับรอง Q Restaurant

ส่วนร้านที่จะเข้าร่วมโครงการ Q Restaurant Premium จะต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่ 1) เป็นร้านที่คงสถานะเป็น Q Restaurant ไม่น้อยกว่า ๑ ปีงบประมาณ 2) มีผลการประเมินคะแนนรวมในแบบเช็คลิสต์ตามคู่มือหลักเกณฑ์เงื่อนไขการตรวจรับรองร้าน Q restaurant ในทุกหมวด ไม่น้อยกว่า ๙๐% 3) ร้านต้องใช้วัตถุดิบสินค้า Q โดยร้านอาหารหลายเมนู จะต้องใช้ต้องใช้วัตถุดิบสินค้า Q ในร้านไม่น้อยกว่า ๑๐ ชนิดขึ้นไป และใช้วัตถุดิบอื่นๆ ในร้านที่เป็นวัตถุดิบปลอดภัย ส่วนร้านอาหารจานเดียว จะต้องใช้วัตถุดิบหลักในเมนูนั้นๆ เป็นสินค้า Q จำนวน 1 ชนิดขึ้นไป และใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในเมนูนั้นๆ เป็นวัตถุดิบปลอดภัย

No Comments

    Leave a Reply