News

อ.ส.คเร่งขับเคลื่อน“ฟาร์มโคนมขนาดเล็ก”ในโรงเรียน ผุดหลักสูตร“ห้องเรียนศาสตร์พระราชา” สอนวิชาเลี้ยงโคนม

06/12/2019

อ.ส.ค.เร่งติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริม “ฟาร์มโคนมขนาดเล็ก”ในโรงเรียน พร้อมขยายผลผุดหลักสูตร“ห้องเรียนศาสตร์พระราชา” สอนวิชาการผลิตโคนมในโรงเรียน หวังให้เด็กนักเรียนได้สัมผัสกระบวนการเลี้ยงและรีดน้ำนมโคแบบครบวงจร มุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานของรัชกาลที่ ๙ ให้มีความยั่งยืนตลอดไป

วันนี้( 6 ธค.62) ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จังหวัดสกลนคร ต.พังขว้าง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) พร้อมคณะผู้บริหารอ.ส.คได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้า”โครงการศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการศึกษาการเลี้ยงโคนมในโรงเรียน”แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างอ.ส.ค กรมปศุสัตว์และหน่วยงานในพื้นที่


ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้โรงเรียนต่างๆในชุมชนมีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ“โคนมอาชีพพระราชทาน” เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้สัมผัสกระบวนการเลี้ยงและรีดนมโคแบบครบวงจร เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนหันมาสนใจและใส่ใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมมากขึ้น เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด โคนมอาชีพพระราชทานของรัชกาลที่ ๙ ให้มีความยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในขบวนการผลิตโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียนก่อนนำมาแจกจ่ายให้เด็กดื่มกินซึ่งถือเป็นโครงการภายใต้นโยบายสำคัญรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับแนวการดำเนินงานของอ.ส.ค. ที่ได้ส่งเสริมโคนมอาชีพพระราทานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่นโดยการสร้างเยาวชนให้มีความสนใจและภาคภูมิใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและเพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รับการเรียน การสอน และการปลูกฝังอาชีพการเลี้ยงโคนมจากโรงเรียน

โดยในปี ๒๕๕๘ อ.ส.ค.ได้สนับสนุนให้มีฟาร์มโคนมขนาดเล็กในโรงเรียนเพื่อใช้เลี้ยงโคนมใน “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี” นำร่องเป็นโรงเรียนแรก ภายใต้ “โครงการศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการศึกษาการเลี้ยงโคนมในโรงเรียน” โดยบูรณาการความรวมมือระหว่างอ.ส.ค กรมปศุสัตว์และหน่วยงานในพื้นที่

จากนั้นใน ๒๕๕๙ได้สนับสนุนโคสาวท้องแรก ๕ ตัวกับโรงเรียนมูลค่า ๒๕๐,๐๐๐ บาทและเงินสนับสนุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมมูลค่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่นักเรียน ได้มีองค์ความรู้ด้านโคนม ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจนเกิดทักษะทางด้านการเลี้ยงโคนมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้และทักษะไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์และขยายผลการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ จากนั้นในปี ๒๕๖๐ ได้สนับสนุนงบประมาณในการต่อเติมโรงเรือนของศูนย์เรียนรู้ฯ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์เรียนรู้ฯให้มีมาตรฐานมีพื้นที่รองรับปริมาณโคนมที่เพิ่มขึ้น
จากนั้นในปี ๒๕๖๒ อ.ส.ค.ได้เปิดหลักสูตร “ห้องเรียนศาสตร์พระราชา” โดยมีวิชาหลักคือวิชาการผลิตโคนม โดยมอบโคนมทั้งที่เป็นแม่โคและลูกโครวม ๑๓ ตัวให้กับโรงเรียน ซึ่งจากผลดำเนินการให้น้ำนมดิบเฉลี่ย ๓๕ กก.ต่อวัน รายได้เข้าโครงการประมาณ ๑๓,๐๐๐ บาท/เดือน โดยได้รับความอนุเคราะห์หญ้าแห้งจากกรมปศุสัตว์ปีละ ๕๐๐-๖๐๐ ฟ่อน รวมทั้งเข้ามาดูแลรักษาและผสมเทียม ส่วนอาหารข้นทางโรงเรียนจะซื้อเองโดยใช้งบประมาณจากรายได้โครงการ นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ปลูกหญ้าสดเพื่อใช้เป็นอาหารโคนมจำนวน ๓ แปลงพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ๑๔
สำหรับแนวทางขับเคลื่อน สืบสาน รักษา ต่อยอดในอนาคต อ.ส.ค.มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพโครงการและพัฒนาวิธีการให้ทันสมัยแตกต่างจากรูปแบบเดิม เช่น การถ่ายทอดให้ความรู้โดยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟาร์ม การดูแลสุขภาพให้ความรู้ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้การเลี้ยงโคนมมากยิ่งขึ้น เพื่อปลูกฝังโคนมอาชีพพระราชทานแก่เด็กและเยาวชนนำไปสืบสาน ต่อยอดตามพระราชปณิธาน ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ให้เป็นอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนของไทยตลอดไป

“อ.ส.คจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อน ต่อยอด ขยายผลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่น โดยการสร้างเยาวชนให้มีความสนใจและภาคภูมิใจในอาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานและสามารถนำไปขยายผลในชุมชนต่อไปรวมทั้งเห็นความสำคัญโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
​​​

No Comments

    Leave a Reply