นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวในการประชุมทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ร่วมกับหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่า ขอให้ทุกคนครองสติในภาวะวิกฤติการระบาดไวรัสโควิด-19 ให้ตระหนักแต่อย่าตระหนกเกินไป และให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภัยแล้ง รับฟังและประสานให้ข้อมูลทั้งเกษตรกร องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การผลิตที่ใช้น้ำน้อยหากภัยแล้งคุกคามมากก็ปรับไปทำกิจกรรมเกษตรอย่างอื่น เช่น เลี้ยงไก่ เป็นต้น และเพื่อรองรับสถานการณ์ขณะนี้ขอให้เชื่อมั่นในการเป็น “เกษตรกร” ซึ่งสำคัญมากกับการเป็นหลักให้กับประเทศในภาวะวิกฤติ ให้ถือเป็นโอกาสระยะยาวที่เกษตรกรจะช่วยกันค้นหาศักยภาพของตนและของชุมชน สำหรับสภาเกษตรกรจังหวัดเมื่อจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรรมระดับตำบลขอให้พัฒนาไปสู่โครงการเพื่อประสานการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ขอให้ใช้การสื่อสารทางไกลในการทำงานร่วมกันเพื่อรักษาระยะห่าง และลดการแพร่กระจาย/ระบาด หากมีใครติดเชื้อขออย่าได้รังเกียจ ขอให้ช่วยกันดูแล เอื้ออาทรต่อกัน ทุกวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอ ขอให้เกษตรกรสำรวจดูว่าวิกฤติทุกครั้งกระทบการดำเนินชีวิตในการเป็นเกษตรกรหรือไม่ หากคำตอบคือเกิดผลกระทบนั่นเท่ากับว่าเราจะต้องมีการสร้างการผลิตแบบยั่งยืนให้ได้ อาจจะด้วยการปรับการผลิตให้หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ได้สามารถต่อรองการตลาด ปรับจากการผลิตแค่วัตถุดิบเป็นแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ โดยสภาเกษตรกรฯจะประสานสู่ผลทางการปฏิบัติ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)พร้อมเป็นพี่เลี้ยงด้านการแปรรูป , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่พร้อมช่วยเปลี่ยนจากวัตถุดิบให้เป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่น หรือองค์กรเกษตรกรใดมีแผนธุรกิจที่ดีจะส่งต่อเพื่อประสานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ในด้านเงินทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ยกตัวอย่าง สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางในช่วงที่ภาครัฐกำหนดห้ามการจัดประชุม ก็จะทำงานเชิงลึกด้านข้อมูลในพื้นที่โดยการไปรับฟังเกษตรกรเพื่อค้นหาศักยภาพ และที่สำคัญภาวะสถานการณ์เช่นนี้เกษตรกรควรปรับเป็นการขายตรงผลผลิตสู่ผู้บริโภคเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น การวางจำหน่ายผลผลิตที่ศาลากลางจังหวัด เป็นต้น
No Comments