News

ชป.เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม ลดผลกระทบประชาชน

20/10/2021

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ร่วมงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ พร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา  เปิดเผยว่า ฝนที่ตกสะสมตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร  ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 21 จังหวัด โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำชี-มูล ลงแม่น้ำโขง โดนการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ

ส่วนในลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำมากเกินความจุของลำน้ำ ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 10 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง พิษณุโลก พิจิตร ชัยนาท สุพรรณบุรี อุทัยธานี  กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับมืออุทกภัยและให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำด้วยการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่างๆ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด และเชียงใหม่ ซึ่งกรมชลประทานได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 85 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำรวม 198 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำในลำน้ำต่างๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ยังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยตลอด 24 ชม. ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัดละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยการจัดจราจรทางน้ำให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด พร้อมทั้งให้เก็บกักน้ำในไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ รวมไปถึงการสำรวจความเสียหายของอาคารชลประทาน เพื่อปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนพื้นที่ที่น้ำลดแล้วให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด

No Comments

    Leave a Reply