News

“เฉลิมชัย”สั่งกรมการข้าวพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ หลังเสียแชมป์คุณภาพให้กัมพูชาและเวียดนาม นาน 2 ปี

18/11/2019

“เฉลิมชัย”สั่งกรมการข้าวพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เรียกความเป็นหนึ่งด้านคุณภาพคืน หลังจากผลการประกวดข้าวโลก 2 ปีที่ผ่านมา เสียแชมป์ให้กัมพูชาและเวียดนาม อีกทั้งให้ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาดินเนื่องจากปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมมานาน อาจมีผลให้คุณภาพข้าวต่ำลง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงผลการประกวดข้าวโลก 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดย ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนามชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ส่วนข้าวหอมมะลิจากไทยเป็นอันดับสอง โดยไทยเสียแชมป์ต่อเนื่อง 2 เนื่องจากปี 2018 ข้าวหอมมะลิกัมพูชามาลีอังกอร์ได้อันดับ 1 ส่วนข้าวหอมมะลิไทยได้เพียงอันดับสอง

ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ โดยตรวจสอบว่า ข้าวเวียดนามและกัมพูชาที่ชนะเลิศนั้นมีข้อเด่นด้านใดเพื่อนำมาพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนาม มีเมล็ดยาว เหนียวนุ่ม แม้ความหอมจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทย แต่มีความหวานมากกว่า ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เวียดนามใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปีจึงได้รับรางวัลและขณะนี้เวียดนามอยู่ระหว่างการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวอังกอร์คือ ข้าวหอมมะลิกัมพูชา เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม เป็นที่นิยมของชาวจีน แต่จุดอ่อนคือ หากปล่อยไว้ในอุณหภูมิปกติราว 10 นาที จะเหนียวและแข็ง ต้องรับประทานตอนที่ร้อนเท่านั้น โดยคุณสมบัติข้อนี้ยังเป็นรองข้าวหอมไทย การที่กัมพูชาคว้าอันดับ 1 ข้าวที่ดีที่สุดในโลกมาครองในปีที่แล้วเป็นผลมาจากความพยายามที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีความสะอาด ปราศจากการเจือปน ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ กัมพูชาทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้ข้าวซึ่งรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคมากกว่าเดิม

นายเฉลิมชัยบอกด้วยว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตได้มอบนโยบายว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพ ทั้งเวียดนามและกัมพูชาต่างไม่หยุดพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งศึกษาวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ครอบคลุมถึงระบบการปลูก การพัฒนาดินซึ่งต้องศึกษาว่า การปลูกพืชชนิดเดียวในที่เดิมเป็นเวลาหลายสิบปีนั้นทำให้คุณภาพข้าวต่ำลงหรือไม่ ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการทำเกษตรอื่นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะปลูกข้าว ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) นอกจากนี้ยังย้ำให้หาแนวทางลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิไทยไทยสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นมาก โดยขณะนี้ข้าวหอมมะลิไทยราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ขณะที่นายสุดสาคร อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า จะเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพกลับมาครองใจบริโภคทั่วโลกได้ดังเดิม นอกจากนี้รมว. เกษตรฯ กำชับให้แก้ปัญหาการเจือปนในเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งทำให้คุณภาพผลผลิตต่ำลง ส่วนระบบการปลูกนั้นจำเป็นต้องบำรุงดินโดยผสมผสานการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยสั่งตัดเพื่อให้ตรงกับสภาพดิน ซึ่งจะต้องตรวจสอบก่อนว่า ดินในนามีธาตุอาหารใดมากและต้องการธาตุอาหารใดเพิ่ม จากนั้นจึงผสมปุ๋ยให้ได้สูตรที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องพัฒนาให้ข้าวทนทานต่อโรคมากขึ้นดังเช่นปีนี้ นาข้าวหอมมะลิส่วนหนึ่งเสียหายเนื่องจากเกิดการระบาดของโรคไหม้คอรวง กรมการข้าวต้องดำเนินการตามแผนข้าวครบวงจรในการรักษาสมดุลการผลิตข้าวเพื่อรักษาปริมาณผลผลิตข้าวไทยไม่ให้ล้นตลาด (Over Supply) ซึ่งจะทำให้ราคาตกต่ำ
“กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าว จากเดิมผลิตได้ 85,000 ตันต่อปีเป็น 260,000 ตันต่อปีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวเจ้า และข้าวเหนียวให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติหรือเกิดโรคในข้าว นอกจากนี้จะสนับสนุนเครื่องมือ รถเกี่ยว เครื่องปักดำ เครื่องคัดแก่ศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สำหรับในการศึกษาวิจัยจะร่วมกับกรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยและวิธีการรักษาคุณภาพเพื่อให้ได้คงความนิยมจากตลาดและครองใจผู้บริโภคทั่วโลกไว้ให้ได้” นายสุดสาครกล่าว
////

No Comments

    Leave a Reply