News

ส.ป.ก. ย้ำ ! แก้กฎหมาย ส.ป.ก. ปี 63 “เกษตรกรต้องมาก่อน”

13/11/2020

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนในประเด็นการออกประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรณีรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563) และกรณีการจัดที่ดินชุมชนในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563) รวม 2 ฉบับ ณ ห้องประชุมจาริน ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 (กฎหมาย ส.ป.ก.) ซึ่งสามารถจำแนกการจัดที่ดินได้ 3 ประเภท ดังนี้
1)การจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร และสถาบันการเกษตร (มาตรา 30)
2)การจัดที่ดินให้แก่บุคคลทั่วไป สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน (มาตรา 30 วรรคห้า)
3)การอนุญาตให้ส่วนราชการหรือเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นเพื่อประโยชน์ในด้านสวัสดิการ การสาธารณูปโภค การศึกษา และการสาธารณสุขของเกษตรกร (ระเบียบที่ออกตามมาตรา 19 (3) (6) (12))

กรณีการจัดที่ดินสำหรับกิจการตามประกาศ คปก. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเป็นการจัดที่ดินประเภทที่ 2) ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้ ส.ป.ก. จัดที่ดินประเภทนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 โดยในการจัดที่ดินนับแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจนกระทั่งปัจจุบันเป็นการจัดที่ดินตามประเภทกิจการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศกำหนดตั้งแต่ปี 2533 และปี 2543 รวม 2 ฉบับ ได้แก่

– ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533

– ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2543

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประกาศกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสองฉบับข้างต้นได้กำหนดประเภทกิจการด้วยถ้อยคำที่เป็นนามธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการจัดที่ดินประเภทที่ 2) เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในแต่ละท้องที่ทั่วประเทศที่แตกต่างกันตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เป็นไปภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันลดปัญหาการใช้ดุลพินิจที่กว้างเกินกว่าอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดหรือการใช้ดุลพินิจที่แคบจนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ คปก. จึงได้ออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน แต่ทั้งนี้ ประเภทกิจการตามประกาศ คปก. ดังกล่าวยังคงต้องมีลักษณะ “เป็นกิจการที่มีลักษณะสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวได้รับประโยชน์จากกิจการนั้นโดยตรง” ด้วย กล่าวคือ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะเป็นผู้พิจารณาประเภทกิจการนั้น ๆ ประกอบกับบริบทของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินแต่ละท้องที่ โดยแม้ว่ากิจการที่ยื่นคำขอจะเป็นกิจการตามรายการที่ประกาศ คปก. กำหนด แต่หากเกษตรกรในท้องที่นั้นไม่ได้รับประโยชน์จากกิจการนั้นโดยตรง กิจการดังกล่าวย่อมไม่เข้าลักษณะกิจการที่จะได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. ได้ เช่น…

– กิจการโรงงานน้ำตาล โรงงานผลไม้กระป๋องฯ ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดที่ดินนั้นจะต้องเป็นกิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรมที่มีลักษณะ “ใช้ผลผลิตทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก” และ “เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวได้รับประโยชน์จากกิจการนั้นโดยตรง”

– กิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่ให้บริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยตรง ได้แก่ ที่อยู่อาศัยของบุคคลผู้ได้รับการจัดที่ดินตามกฎหมาย ส.ป.ก. และที่อยู่อาศัยของบุคคลซึ่งเป็นผู้รับจ้างประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นผู้รับจ้างหรือปฏิบัติงานในกิจการของบุคคลผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าว

นอกจากนี้ การจัดที่ดินให้กับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินทำกินน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญของ ส.ป.ก. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินภายใต้โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส ซึ่ง ส.ป.ก. ได้จัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 2.93 ล้านราย เนื้อที่ 36.36 ล้านไร่ และในปี 2563 จัดที่ดินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 63,000 ราย เนื้อที่รวม 479,456 ไร่

“ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะดำเนินการออกประกาศไปยัง ส.ป.ก. จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้กฎหมายเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สภาพภูมิสังคมในท้องที่นั้น ๆ ตลอดจนประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ว่า ส.ป.ก. ดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้าย

No Comments

    Leave a Reply