News

ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำต่อเนื่อง หลังฝนเริ่มลดลง ตามนโยบายรัฐบาล

10/11/2020

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมไปถึงสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ปัจจุบัน (10 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,350 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 24,420 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,688 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,992 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “เอตาว” ซึ่งจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และคาดว่าจะสลายตัวบริเวณประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งบริหารจัดการน้ำโดยเน้นเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด ในส่วนของภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. 63 – ม.ค. 64 นี้ รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขตจัวหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
อนึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมวอนพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยต้องช่วยกันประหยัดน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่อย่างจำกัด สามารถสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลักเท่านั้น ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้สนองนโยบายรัฐบาล ตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ โดยก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง จะเร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับวางแผนสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการประปาส่วนภูมิสาขาต่างๆ และประปาท้องถิ่นด้วย พร้อมติดตามและกำกับการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สำหรับการเตรียมพร้อมด้านอื่นๆ กรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน 1460

 

No Comments

    Leave a Reply