News

สทนช. จับมือทุกภาคส่วนถอดบทเรียนฤดูแล้ง 65/66 เตรียมพร้อมก้าวสู่ฤดูแล้ง 66/67 ภายใต้สภาวะเอลนีโญอย่างมีประสิทธิภาพ

31/08/2023

สทนช. จัดประชุมถอดบทเรียนประเมินผลการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 65/66 ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา พร้อมเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสภาวะเอลนีโญในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะมาถึง

วันนี้ (31 ส.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ 8 กระทรวง 31 หน่วยงาน อาทิกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ กรมการปกครอง เป็นต้น รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมมากกว่า 250 คน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า สทนช. ได้จัดการประชุมในวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 พร้อมทั้งเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปีถัดไป โดยรองรับสถานการณ์เอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ช่วงก่อนฤดูแล้ง เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อกำหนดแผนการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมทั้งประกาศพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและหากเกิดภัย สามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2) ระหว่างฤดูแล้ง จะเป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ จะดำเนินการตลอดช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และ 3) เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง จะมีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฤดูแล้งปีถัดไป“จากการคาดการณ์พบว่าสภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกน้อย รวมถึงฝนทิ้งช่วง

โดยปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั่วประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้อย และมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยในช่วงฤดูฝนปีนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด และ สทนช. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากทุกภาคส่วนในวันนี้ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่องจากช่วงสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อป้องกันและแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่” เลขาธิการ สทนช. กล่าวสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ / 31 สิงหาคม 2566

No Comments

    Leave a Reply