News

ชป. คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างประณีต /เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 65

15/03/2022

วันนี้(15 มี.ค. 65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (15 มี.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 49,826 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 25,889 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,975 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 72 ของแผนฯ  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,643 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,947 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,468 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 78 ของแผนฯ ส่วนผลการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 7.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 117 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 4.40 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 156 ของแผน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ พร้อมเตรียมรับมือฤดูฝนที่จะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้า ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ รวมทั้งสำรวจอาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ให้วางแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ปรับการระบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำ ระยะเวลา ผลกระทบ การมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายข้อบังคับ และความมั่นคงของอาคารชลประทาน ที่สำคัญให้ทำการแจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

No Comments

    Leave a Reply