News

ข้าวตราฉัตร เชื่อมโยงกลุ่มนาแปลงใหญ่เดิมบาง ผลิตข้าว GAP ผ่านระบบรับรองแบบกลุ่ม

29/09/2019

 


ด้าน นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ งานพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด (ข้าวตราฉัตร) กล่าวว่า ด้วยโจทย์และปณิธานบริษัทฯ คือ การดำเนินธุรกิจข้าว ภายใต้ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม นอกจากการให้ความสำคัญเรื่องพัฒนาคุณภาพข้าวไทย สิ่งหนึ่งที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญมาตลอดคือ การมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น และมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้ยางความยั่งยืนสู่เกษตรกรไทย

ด้วยข้าวตราฉัตร  ดำเนินธุรกิจข้าวมากว่า 30 ปี และจัดโครงการส่งเสริมการปลูกข้าว ร่วมกับเกษตรกรสมาชิกมาแล้วถึง 10 ปี เรียกได้ว่าประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านข้าวมีพอสมควร จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายภาครัฐ ภาคเกษตรกรสมาชิก และภาคประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการผลักดันโครงการนาแปลงใหญ่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เพื่อเชื่อมโยงการผลิตข้าวกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาด โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน GAP

โครงการนาแปลงใหญ่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นการบริหารจัดการระบบผลิตข้าวในแปลงนาแบบครบวงจร เริ่มต้นจากประชุมรับสมัครสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่ มีภาครัฐ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชน ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ จับมือร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร เรื่องการปลูกข้าวที่ถูกวิธี ด้วยระบบ GAP พร้อมดูแล และให้คำปรึกษาต่อเนื่องทั้งกระบวนการผลิตข้าว ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกัน มีระบบการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อวางแผน และบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรกลมาเกี่ยวข้องในระบบการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งการรวมกลุ่มเกษตรกร ทำให้เกิดความเข้มแข็งกลุ่ม มีอำนาจในการต่อรอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต สามารถประหยัดทั้งเวลา และแรงงานคน ได้
นอกจากการให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลวิชาการและทีมงานที่เข้าไปดูแล อีกสิ่งที่บริษัทฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการฯ คือ การเชื่อมโยงการตลาด เข้ากับโครงการฯ โดยบริษัทฯ ซื้อผลผลิตข้าวเกษตรกรสมาชิก ในราคานำตลาด บวกเพิ่มอีกตันละ 300 บาท สำหรับข้าวปทุมธานี1 และประกันราคาอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน สำหรับข้าว กข43 ทำให้เกษตรกรสมาชิกมั่นใจได้ว่า ผลผลิตข้าวที่เค้าปลูก มีแหล่งตลาดรองรับที่แน่นอน เพราะมีระบบการตรวจสอบวัดความชื้น และตาชั่งที่ได้มาตรฐาน

และเป็นเวลากว่า 4 ปี (พ.ศ.2559-2562) จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการนาแปลงใหญ่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันนี้ ปี 2562 มีเครือข่ายเกษตรกรสมาชิก ผู้ปลูกข้าวปทุมธานี1 และข้าว กข43 รวมทั้งสิ้นจำนวน 532 ราย พื้นที่รวมทั้งหมด 14,727 ไร่ ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรสมาชิก ผู้ปลูกข้าว กข43 (เปรียบเทียบกับข้าวขาว) ลดต้นทุนการผลิต 522 บาทต่อไร่ (ลดลง 10%) และทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1,597 บาทต่อไร่ กลุ่มเกษตรกรสมาชิกกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มต้นแบบ เพื่อส่งต่อโมเดลนี้ไปยังสมาชิกตำบลอื่นๆ ในอนาคตได้ ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พัฒนาการผลิตตามมาตรฐาน โดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม (ICS) เข้ามาช่วยในโครงการฯ จะทำให้ระบบการผลิตข้าว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยั่งยืนต่อไปในอนาคต

No Comments

    Leave a Reply