มกอช. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft for Internationale Zusammenarbeit GmbH: GIZ) เป็นเจ้าภาพจัด สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “National Project End Workshop: Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN (FTAG)” ณ โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพ
นายวิทวัสก์ สาระศาลิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “National Project End Workshop: Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN (FTAG)” ว่า โครงการ FTAG เป็นความร่วมมือทางเทคนิคที่ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร การพัฒนา สินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศคู่ค้า การปรับปรุงพัฒนาข้อมูล และการหารือทางเทคนิคด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผ่านช่องทาง ASEAN Focal Point ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 – ธันวาคม 2562 ในพื้นที่ประเทศเป้าหมายนำร่อง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้ร่วมมือ (Partner) ในโครงการดังกล่าว
นายวิทวัสก์ กล่าวว่า มกอช. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft for Internationale Zusammenarbeit GmbH: GIZ) เป็นเจ้าภาพจัดโครงการดังกล่าว เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN : FTAG) โดยมี ที่ปรึกษา มกอช. จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายวิชา ธิติประเสริฐ และนายสัญชัย ตันตยาภรณ์ ร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายและการเสวนา มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากกรมวิชาการเกษตร มกอช. กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และภาคเอกชน เข้าร่วมการสัมมนาจำนวนกว่า 40 ท่าน
“การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มุ่งเป้าพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืช ระหว่างทั้ง 3 ประเทศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การจัดทำรายชื่อศัตรูพืชของพืช 6 ชนิด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และเปิดตลาดสินค้าพืชระหว่างกันในอนาคต การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบและกักกันสินค้าพืชที่ด่านนำเข้า (SOP) โดยประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบในการพัฒนา SOP โดยได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานแล้วเสร็จ และมีกำหนดจะเริ่มใช้คู่มือดังกล่าวในช่วงต้นปี 2563 นี้”
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกสินค้าพืช ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการต่อยอดผลที่ได้รับจากโครงการ เช่น การนำเสนอผลการดำเนินโครงการต่อที่ประชุมที่เกี่ยวข้องของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชภายในอาเซียน จัดตั้งกลไลการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ในกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีและพหุภาคีของไทยในอนาคต เป็นต้น รองเลขาธิการกล่าว…
No Comments