News

ชป.วางบิ๊กแบ็กลดการกัดเซาะทำนบดิน อ่างฯลำตะโคง จ.บุรีรัมย์

27/08/2022

กรมชลประทาน นำบิ๊กแบ็ก(Bigbag) ถมปิดบริเวณทำนบดินชะลอความแรงของน้ำ หลังเกิดการกัดเซาะบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) อ่างเก็บน้ำลำตะโคง จังหวัดบุรีรัมย์

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำลำตะโคง ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 7.53 ล้าน ลบ.ม. โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้รายงานการตรวจพบการกัดเซาะของน้ำบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) จนเกิดการทะลุออกทำนบดินด้านท้าย (Piping) เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ในเบื้องต้นได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ด้านท้ายที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมกับลดระดับน้ำในอ่างฯ โดยการระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำ (Gate Spillway) พร้อมกับนำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการถมปิดบริเวณทำนบดินด้วยกระสอบทราย (Big bag) บริเวณดังกล่าว เพื่อลดชะลอความแรงของน้ำ และลดการกัดเซาะของน้ำที่กระทำต่อตัวเขื่อน ซึ่งปัจจุบันน้ำได้กัดเซาะบริเวณฐานรากใต้พื้นอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวาจนทำให้ตัวฝาย (Ogee Weir) และกำแพงด้านข้างฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำล้นดังกล่าวเกิดการชำรุดเสียหาย ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำในอ่าง 5.06 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% ของความจุ ระดับน้ำในอ่างฯ ลดลงจากเมื่อวาน 0.91 เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 4.6 ล้าน ลบ.ม. มีการระบาย 9.6 ล้าน. ลบ.ม.

ทั้งนี้ เนื่องจากลำตะโคง ด้านท้ายอ่างฯ สามารถรับน้ำได้ถึง 300 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ระบายออกจากอ่างฯในปัจจุบันประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในลำน้ำ ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน แต่จะมีท่วมขังพื้นที่การเกษตรบริเวณที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ประมาณ 1,100 ไร่

อนึ่ง สำนักงานชลประทานที่ 8 มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างทำนบชั่วคราว (Coffer Dam) โอบล้อมบริเวณอาคารที่ชำรุดเสียหายและบริเวณตัวเขื่อนดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ เพื่อเก็บกักน้ำบางส่วนไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป

No Comments

    Leave a Reply