สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด ในสถานการณ์ฝนน้อย – ทิ้งช่วง เพื่อสนับสนุนน้ำด้านอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(25 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,538 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 43,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,661 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 965 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (25 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,240 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,470 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จัดสรรได้ 1,780 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิ.ย. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 5.52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
กรมชลประทาน กำชับให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผน
การจัดสรรน้ำที่วางไว้ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่ามีน้อย ต้องจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ ซึ่งกรมชลประทานยังดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเครื่องสูบน้ำ ผันน้ำ รวมทั้งสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน นอกจากนี้ ได้กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการดำเนินงานตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกพื้นที่พร้อมรับกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น
No Comments