พล.อ.ฉัตรชัยฯ นำคณะกรรมาธิการเกษตรฯวุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง จ.พิษณุโลก
วันนี้(19 ธ.ค.62)พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานกรรมาธิการ นำคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาระบบนิเวศเกษตรภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(19 ธ.ค. 62) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางจำนวน 447 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 47,989 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม ประมาณ 24,136 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,332 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,636 ล้าน ลบ.ม. ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน จึงต้องวางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก และสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร และผู้ใช้น้ำ ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำปัจจุบัน รวมทั้งขอความร่วมมือให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
สำหรับสถานการณ์น้ำจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบัน(15 ธ.ค.62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวน 10 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 463 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 420 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำกัด จึงไม่มีแผนสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้ โดยจะสนับสนุนน้ำเฉพาะภาคเกษตรต่อเนื่อง เช่น ไม้ผลไม่ยืนต้น หรือเกษตรที่ใช้น้ำน้อยเท่านั้น เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้งเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดพิษณุโลก มีประสิทธิภาพและทั่วถึงทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน กรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก 5 โครงการฯ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองชมพู ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ความจุ 87.23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 103,800 ไร่ 2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำวังทอง ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยระเบย ต.บ้านแยง อ.นครไทย ความจุ 43.12 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 53,400 ไร่ และอ่างเก็บน้ำห้วยแยง ต.บ้านแยง อ.นครไทย ความจุ 25.47 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์54,100 ไร่ 3.โครงการคลองชักน้ำฝั่งขวาแม่น้ำยม (คลองสุชน-คลองตะโม่-แก้มลิง) พร้อมอาคารประกอบ มีพื้นที่รับประโยชน์ 70,000 ไร่ และ 4.โครงการฟื้นฟูบึงราชนก ต.สมอแข อ.เมือง และ ต.วังพิกุล อ.วังทอง พื้นที่บึงขนาด 4,865 ไร่ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย สามารถเก็บกักและชะลอน้ำได้ถึง 28.85 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนกอย่างยั่งยืน ที่มีแนวทางดำเนินการ 4 ด้าน 11 แผนงาน 23 โครงการ 5.โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำยม(ฝั่งขวา)บริเวณช่วงต่อจากประตูระบายน้ำวังสะตือ มีพื้นที่รับประโยชน์ 51,375 ไร่
ด้านการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการ “โครงการบางระกำโมเดล” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัยในฤดูน้ำหลากในลุ่มน้ำยม ด้วยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ขึ้นใหม่ กำหนดให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน เก็บเกี่ยวได้ภายในเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคนจนถึงตุลาคม จะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นทุ่งหน่วงน้ำรองรับน้ำในช่วงวิกฤตของแม่น้ำยม เพื่อชะลอการระบายน้ำไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมงในช่วงเวลาดังกล่าวได้ด้วย
ทั้งนี้ โครงการบางระกำโมเดล ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562 มีพื้นที่โครงการฯรวมทั้งหมด 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย รวม 5 อำเภอ 28 ตำบล 121 หมู่บ้าน เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ซึ่งในวันที่ 3 เมษายน 2562 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้เดินทางมาเป็นประธานในการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี ซึ่งผลการดำเนินการสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ในเดือนกรกฎาคม 2562 ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา หลังจากนั้น จึงเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2562 ซึ่งในช่วงวันที่ 1-5 กันยายน 2562 ในลุ่มน้ำยมตอนบนได้รับอิทธิพลจากพายุโพดุล ได้มีการผันน้ำเหลี่ยงเมืองสุโขทัยมาทางแม่น้ำยมสายเก่าเข้าสู่พื้นที่หน่วงน้ำโครงการบางระกำโมเดล ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเมืองสุโขทัยได้เป็นอย่างมาก สรุปแล้วในปี 2562 ทุ่งบางระกำรับน้ำเข้าทุ่งทั้งสิ้นประมาณ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำ 103,074 ไร่ กรมประมง ได้มาดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลา จำนวน 14.5 ล้านตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ
No Comments