กรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคอีสานกลาง หวังลดปัญหาการขาดแคลนน้ำกินกน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมวอนทุกภาคส่วนต้องร่วมใจกันอย่างจริงจังในการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เหตุจากน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังจากได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลาง จากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างโครงการชลประทาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีเป้าหมายที่ลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะส่งไปสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ด้วยการสูบน้ำย้อนกลับจากแม่น้ำชี ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนลำปาว มาเติมบริเวณหน้าเขื่อนวังยาง พร้อมกับควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จากนั้นจะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ โดยมีแผนการใช้เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า submersible จำนวน 4 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.5 ลบ.ม./วินาที สามารถสูบน้ำได้ประมาณวันละ 170,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน เริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้บริเวณหน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563
จากแนวทางดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. ส่วนกรณีหากเกิดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองมหาสารคามไม่เพียงพอ ได้วางแผนในการระบายจากเขื่อนลำปาวในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนลำปาว ไม่มีความต้องการน้ำในการทำการเกษตร โดยมีแผนในการระบายน้ำจากคลอง 4R-RMC ผ่านอาคาร wastway ฃงกุดซวย จากนั้นจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีผ่าน ประตูระบายน้ำพนังชี ซึ่งจะช่วยเติมน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางได้อีกประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.
ดร.ทองเปลวฯ กล่าวอีกว่า “ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในทุกพื้นที่ รวมถึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า”
No Comments