ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้เกิดความผันผวนของสภาพอากาศ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้มีน้ำต้นทุนที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้อยลงไปด้วย จนหลายพื้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากความผันผวนของสภาพอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วนจึงสั่งการให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดย วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งให้รัดกุม เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้พร้อมสำหรับเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานชลประทานที่ 3 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนกว่า 50 หลังคาเรือนในพื้นที่ หมู่ 1 บ้านบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ด้านสำนักงานชลประทานที่ 12 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ที่จังหวัดสิงห์บุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำนักงานชลประทานที่ 10 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโพกรวม จังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองชัยนาท-อยุธยา บริเวณหน้าไซฟอน บ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้ดีขึ้น
ส่วนในพื้นที่ของที่สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในเขตเทศบาลบ้านใหม่ ประปาเทศบาลนครนครราชสีมา และประปามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีแผนสร้างทำนบดินและปรับปรุงพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับการจัดสรรน้ำตามความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และทำการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง รวมทั้งขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ และเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
No Comments