ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สภาพการณ์โดยรวมของน้ำต้นทุนเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ที่สามารถใช้การได้เก็บกักในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศจะอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ประมาณ 29,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ดังนั้นเพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดกรมชลประทานจึงวางแผนจัดสรรน้ำต้นทุนจากทุกแหล่งน้ำสำคัญทั้งอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวน 17,699 ล้านลบ.ม.อย่างรัดกุมเหมาะกับสภาพแต่ละพื้นที่ บนพื้นฐานสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนผู้ใช้น้ำทุกคนมีน้ำสะอาดกินใช้อย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้งประมาณ 2,300 ล้านลบ.ม. น้ำที่ปล่อยลงเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำลำคลองจำนวน 6,999 ล้านลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตรจำนวน 7,881 ล้านลบ.ม. พร้อมกับสำรองน้ำจำนวนที่เหลือไว้กรณีฝนมาช้า มาน้อยหรือทิ้งช่วง
อย่างไรก็ตามแม้สภาพการณ์น้ำจะอยู่ในเกณฑ์น้อยก็ตาม แต่ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งที่มี ปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนปราณบุรี เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน เป็นต้น ทำให้พื้นที่ในเขตชลประทานของอ่างเก็บน้ำดังกล่าว สามารถใช้น้ำได้ทุกกิจกรรมรวมถึงการปลูกพืชหน้าแล้ง
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชลประทานของเขื่อนอื่นๆ ต้องควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด อาทิ พื้นที่ชลประทานของ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ แม่กวงอุดมธารา ห้วยหลวง ลำตะคอง ลำนางรอง กระเสียว คลองสียัด บางพระ ประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา เป็นต้น ที่มีน้ำพอทำเกษตรต่อเนื่องอย่างพืชไร่ พืชผัก ไม้ยืนต้น เท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำไม่พอทำการเกษตรเลย ได้แก่ เขื่อนแม่มอก น้ำพุง อุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ หนองปลาไหล และเขื่อนรัชชประภา
อธิบดีกรมกรมชลประทานกล่าวต่อว่า กรมชลประทานยังได้วางแผนที่จะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีปริมาณค่อนข้างมาก มาช่วยเหลือลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่มีปริมาณน้ำน้อย จำนวน 500 ล้านลบ.ม. ทำให้เจ้าพระยามีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านลบ.ม. โดยจะจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจำนวน 1,150 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาให้กับ 22 จังหวัดภาคกลาง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปา และรักษาระดับความเค็มของน้ำให้ไม่กระทบต่อสวนผลไม้และสวนกล้วยไม้อีก 2,200 ล้านลบ.ม. เนื่องจากหากเกิดความเสียหายต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูหลายปี ซึ่งกรมชลประทานจะใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำด้วยอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศนั้น ระบบอ่างฯพวงที่กรมชลประทานได้ดำเนินการไว้ตามศาสตร์พระราชา จะทำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงแล้งอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กรมชลประทาน จะดำเนินการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เป็นไปตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากเกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
No Comments