กรมการพัฒนาชุมชน พาทัวร์เส้นทางท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP ฝั่งทะเลตะวันออก ชื่นชมธรรมชาติ พร้อมค้นหาความรู้จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชม ชิม ชอป ผลิตภัณฑ์ OTOP ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก
นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเดินสายเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP เส้นทางที่ 2 ฝั่งทะเลตะวันออก หรือ แอกทีฟ บีช คลัสเตอร์ ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดว่า เส้นทางฝั่งทะเลตะวันออก เป็น 1 ใน 8 เส้นทาง ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ที่กระจายตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดความเข้มแข็งและมีเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก สร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
ทั้งนี้ ในแต่ละหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) เส้นทางที่ 2 ฝั่งทะเลตะวันออก หรือ แอกทีฟ บีช คลัสเตอร์ เป็นหมู่บ้านที่ได้คัดเลือกมาแล้ว ซึ่งล้วนมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ดังนี้
หมู่บ้านท่าภาณุรังษี หมู่ที่ 6 ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี มีจุดท่องเที่ยวมากมาย ได้แก่ ช่องอิศริยาภรณ์ (ช่องเขาขาด) ตั้งอยู่ด้านหลังเกาะทางทิศตะวันตกติดกับแหลมมหาวชิราวุธ เป็นช่องเขาใหญ่ที่อยู่ระหว่างยอดมหาวชิราวุธกับยอดยุคล มีทางเชื่อมกับถนนเสาวภา ผ่านช่องไปออกทะเลที่แหลมมหาวชิราวุธ หากอยู่กลางทะเลจะเห็นความสวยงามทางธรรมชาติเป็นภาพเขาที่ขาดออกจากกัน แต่หากชมวิวทิวทัศน์จากบนเกาะบริเวณนี้ก็สามารถชมความงดงามของท้องทะเล เกลียวคลื่นกระทบหินผาอันสูงชันที่เรียกว่า เทือกศิลามหาวชิราวุธ อันเป็นมุมที่ชมความงามได้ถึง 360 องศา มองเห็นทั้งเกาะ หน้าผา ทะเล รวมถึงสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยที่สุดบนเกาะสีชัง
รอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่บนยอด เขาพระจุลจอมเกล้า ที่อยู่ทางทิศเหนือของเกาะ อยู่ที่เดียวกันกับ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ แต่อยู่เหนือขึ้นไปด้านบนยอดเขา บนยอดเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ยังสามารถชมวิวเกาะสีชังได้รอบเลย เป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพ และชมความสวยงามของเกาะสีชังจากมุมสูง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นตัวเมืองเกาะสีชังได้ และยังสามารถเห็นทะเลทั้ง 2 ด้านของเกาะสีชังได้
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บนเขาคยาศิระ ห่างจากท่าเรือเทววงศ์ไปทางด้านเหนือของเกาะ ลักษณะเป็นถ้ำซึ่งดัดแปลงเป็นศาสนสถาน ที่ผสมผสานด้วยสถาปัตยกรรมจีนและไทย จากบริเวณศาลมองเห็นทิวทัศน์บ้านเรือนด้านหน้าเกาะได้ชัดเจน เรื่องเล่าความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พ่อค้าชาวจีนทั้งในและต่างประเทศให้ความเคารพสักการะ และจะเดินทางมาสักการะกราบไหว้เป็นประจำทุกปี เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องการงานและการค้าขาย โดยเมื่อมาถึงเกาะสีชัง และเดินเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะพบศาลเจ้าเป็นอาคารลักษณะวิหารจีน ส่วนองค์เจ้าพ่อเขาใหญ่จะอยู่ภายในถ้ำบนเขา
สะพานอัษฎางค์ ซึ่งเป็นสะพานท่าเรือขนาดใหญ่ ตัวสะพานทำด้วยไม้สักทาสีและตรึงเหล็กที่แข็งแรง เสารับรอดและคานนั้นปักลูกไม้และก่อศิลาด้วยซีเมนต์ผสมปูน มีป้ายบอกนามสะพานทั้งภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เป็นข้อความดังนี้ “สะพานอัษฎางค์ รัตนโกสินทร์ศก 110 สร้างสมัย ร.5” สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นจากเงินพระราชทานจากพระคลังข้างที่ (ทรัพย์สินส่วนพระองค์) จากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และทรงโปรดพระราชทานนามว่า “สะพานอัษฎางค์” เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ ทรงหายจากอาการประชวร ณ เกาะแห่งนี้ และได้มีพิธีเปิดสะพานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2434
หมู่บ้านทะเลน้อย หมู่ที่ 6 ต.ทางเกวียน อ.แกลง จ.ระยอง แหล่งท่องเที่ยวที่น่าไปชม ได้แก่ วัดราชบัลลังก์ หรือเรียกกันอีกชื่อว่า วัดทะเลน้อย ซึ่งเป็นที่ๆ กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จผ่านเพื่อนำทหารไปตีเมืองจันทบุรี และได้หยุดพักที่บ้านทะเลน้อย ชื่อของวัดราชบัลลังก์ มาจากบัลลังก์ที่ประทับซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าตากสิน ต่อมาได้ทำการขนย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพ นอกจากนี้ ยังมีพระประทานเก่าแก่ โครงสร้างหวาย ฉาบปูนปิดทอง เจดีย์เก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 เชื่อกันว่าแต่ก่อนบรรจุของมีค่าไว้มากมาย แต่ปัจจุบันของเก่าได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว
ผักกระชับ บ้านทะเลน้อย ได้ทำการเพาะเมล็ดต้นกระชับเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นต้นอ่อนผักกระชับ ผักที่ปลอดสารผิด หากินได้ที่นี่ที่เดียว ทั้งมีรสชาติกรอบ หวาน อร่อย จะกินสดๆ หรือจะนำมาปรุงอาหารก็ได้เช่นกัน ผักกระชับนี้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่นำมาเพาะเป็นต้นอ่อน แล้วนำมาทำเป็นอาหารปลอดภัยไร้สารพิษและมีรสชาติอร่อยกินง่าย จึงทำให้กลายเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของที่แห่งนี้ไปแล้ว นอกจากนั้น “ผักกระชับ” ยังมีคุณประโยชน์เป็นของแถม เป็นยาบำรุงกำลัง ,ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ,ช่วยขับเหงื่อ ,แก้ลมพิษ, ช่วยห้ามเลือดสมานแผลสด ฯลฯ
นกเหยี่ยวแดง บางครั้งนิยมเรียกว่า เหยี่ยวแดงหัวขาว เพราะมีลักษณะเฉพาะคือ ที่อกและหัวมีสีขาว ลำตัวและปีกสีน้ำตาลแดง ปลายปีกสีดำ ขาสีเหลือง เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ชอบอาศัยอยู่ตามปากอ่าว ริมทะเล เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 สามารถพบเห็นได้ในช่วงเวลาเย็นใกล้พระอาทิตย์ตก ถือว่าประแสมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์มากจริงๆ
หมู่บ้านอ่าวสลัด หมู่ที่ 6 ต.เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย ได้แก่ ธนาคารปูม้า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านจับปูได้ แม้เป็นปูไข่นอกกระดองก็จะเอาไปทำอาหารเลย ทำให้จำนวนประชากรปูในท้องทะเลลดลง ปูหายากขึ้น จนต้องออกไปหาปูรอบอ่าวซึ่งไกลจากเกาะมากขึ้น กระทั่งเกิดเป็นโครงการธนาคารปูม้า โดย กศน.จังหวัดตราด จุดประกาย ร่วมกับส่วนราชการอื่น ซึ่งทำให้เห็นว่า ธนาคารปูสามารถเพิ่มจำนวนประชากรปูได้มากขึ้นจริง ชาวบ้านสามารถจับปูได้มากขึ้น และไม่ต้องออกไปไกล ขณะที่ราคาปูก็ถูกลง หากใครเจอปูไข่นอกกระดอง ห้ามเอาไปทำอาหารเด็ดขาด จะต้องเอามาฝากในกระชัง เพื่อให้ปูสลัดไข่ แล้วค่อยเอาตัวไปทำอาหาร ซึ่งเป็นข้อตกลงของทุกหมู่บ้านบนอำเภอเกาะกูด ห้ามกินปูไข่นอกกระดอง ต้องให้ปูมาสลัดไข่เพื่อขยายพันธุ์ก่อน ธนาคารปูช่วยเพิ่มประชากรปูรอบเกาะกูดได้มาก จากที่เมื่อก่อนยังไม่ทำโครงการ จำนวนปูรอบเกาะจะลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน ปริมาณปูไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการที่มีมากมายบนเกาะ แต่ตอนนี้เรามีจำนวนปูเพิ่มมากขึ้น ชาวประมงก็จับปูได้เพิ่มมากขึ้น และมีการขยายพันธุ์หมุนเวียนไปตลอดทำให้มีจำนวนปูมากเพียงพอต่อการรองรับการบริโภคของนักท่องเที่ยว และสามารถส่งสถานประกอบการได้ด้วย
ปะการังเทียม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อดัดแปลงสภาพของพื้นท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ให้เหมือนสมัยก่อน โดยปะการังตามธรรมชาติมีการถูกทำลายและเหลือจำนวนน้อยลง โดยการจัดทำสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือเรียกง่าย ๆ ว่า บ้านปลา ล่องเรือไปปลูกปะการังเทียม (ปะการังเขากวาง) ที่บริเวณปากอ่าว เพื่อเป็นจุดดำน้ำของนักท่องเที่ยวและเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งนี้หมู่บ้านอ่าวสลัด เป็นจุดจอดเรือหลบคลื่นลมมรสุม นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนต้องขึ้นเรือ-ลงเรือที่นี่ อีกด้วย
หมู่บ้านเปร็ดใน หมู่ที่ 2 ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด โครงปลาวาฬบลูด้า โครงกระดูกปลาวาฬ พ.ศ.2544 ที่บ้านเปร็ดใน เคยมีปลาวาฬบรูด้าน้ำหนัก 13 ตัน มาเกยตื้นและเสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ได้นำโครงกระดูกมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้กับ เยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจและเข้ามาดูเพื่อการศึกษา
สวนเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ มีระบบการสำรองน้ำจืดด้วยนากุ้งร้างและร่องสวน ฝายกักน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านเปร็ดใน เป็นต้นแบบของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำจืดจนประสบผลสำเร็จ และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย โดยใช้ฝายกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็มตามแนวพระราชดำริ
ระบบนิเวศและพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน มรดกผืนป่าตะวันออกมีพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน นับว่าสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออก ภายในอาณาเขตนับหมื่นไร่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติมหัศจรรย์อันทรงคุณค่าของป่าชายเลน ตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตร ของเส้นทางจนถึงป่าชายฝั่งทะเลสัมผัสได้ถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้ชายเลนหลายสิบชนิดให้ศึกษา มีป้ายชื่อบอกชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโกงกางใบเล็กพังกาหัวสุมดอกแดง ฝาดดอกขาว – ดอกแดง โปรงแดง ถั่วขาว ตาตุ่มทะเล ตะบูนขาว ตะบูนดำ ฯลฯ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในป่าชายเลนได้ทั้งเวลาน้ำขึ้นและน้ำลง ที่นี่ยังเป็นถิ่นอาศัยของนกหลายชนิด มีทั้งนกสีสวยอย่างนกกินเปี้ยว นกกินปลีคอสีทองแดง นกกินปลีคอสีม่วง ตลอดจนบรรดานกยาง เช่น นกยางเปีย นกยางเขียว นกยางกรอก บนพื้นเลน ยามน้ำลดจะเต็มไปด้วยปลาตีนและปูก้ามดาบที่ช่วยเติมสีสันและสร้างชีวิตชีวาให้แก่ผืนป่า นอกจากเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถล่องเรือชมป่าชายเลนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เมืองตราด มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ กุ้งแห้ง ถือเป็นอาหารภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดูแล้วก็เป็นเพียงอาหารธรรมดาๆ แต่ใครจะรู้ว่ามีบางคนได้ทำให้มันไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะกุ้งแห้งได้กลายเป็นสินค้าโอท๊อประดับ 5 ดาวในเมืองตราด จนทำรายได้เป็นหลักแสนอย่างน่าทึ่ง
ข้าวเกรียบสมุนไพร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเปร็ดในได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 โดยเริ่มจากสมาชิกเพียง 7 คน เพื่อต้องการใช้เวลาจากการทำเกษตรและประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักหารายได้เสริม ซึ่งใช้วัตถุดิบหาได้ง่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชสมุนไพรจากธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมนั้นมีอยู่ทั่วไปตามป่าชายเลน ผลิตภัณฑ์ได้มาจากป่าชายเลนที่มีการอนุรักษ์ป่าจากชุมชนในหมู่บ้าน เช่น ใบเหงือกปลาหมอ ซึ่งเป็นสมุนไพรช่วยรักษาโรคต่างๆ เช่น ขับลมในกระเพาะ และยังมีขนุน ฟักทอง ใบเบญจมาศ หรือฝาง โดยนำแกนมาต้มแก้ร้อนใน สามารถนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและครัวเรือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่น ที่สำคัญได้ใบรับรองมาตรฐาน จาก อย. และรับผลการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3 ดาว ปี 2556
ชาใบขลู่ สนับสนุนโดย สสส. GSEI ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน สปสช. องค์การบริหารส่วนตำบลห้วงน้ำขาว มีสรรพคุณ ลดความดันโลหิต ล้างพิษในไต ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ขับปัสสาวะ ขับลม และที่สำคัญปราศจากคาแฟอีน เครื่องจักสาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปใช้งานได้จริง โดยผลิตจากคนในชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้ ขยายผล เพื่อรักษาภูมิปัญญา ใช้วัสดุในท้องถิ่น
หมู่บ้านต้นเลียบ หมู่ที่ 6 ต.รำพัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตร ได้แก่ สวนผึ้งชันโรง ซึ่ง“ศูนย์ฯ ผึ้ง จันทบุรี” เป็นสถานที่ที่จะได้สัมผัสโลกใบเล็กๆ ของแมลงที่เรียกว่า “ผึ้ง” และแมลงเศรษฐกิจประเภทอื่นๆ ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว มีหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้กับเกษตรกรผู้สนใจ ผ่านโครงการฝึกอบรมที่จัดขึ้น เช่น การขยายพันธุ์ผึ้ง การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสร การเลี้ยงชันโรงเพื่อการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้ง และชันโรง หรือการเลี้ยงจิ้งหรีด รวมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินไปกับการชมพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ พร้อมรับความรู้จากจุดเรียนรู้ต่างๆ
สวนทุเรียน จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติทั้งป่าเขาและท้องทะเล และยังเป็นถิ่นผลไม้ไทย ๆ อย่างทุเรียน เงาะ มังคุด ฯลฯ อีกด้วย โดยเฉพาะทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ในเขตร้อน ที่รสชาติอร่อย กรอบ หอม ปลูกทุเรียนสายพันธุ์หลักคือ หมอนทอง มีพันธุ์พวงมณีผสมอยู่เล็กน้อย และมีสวนมังคุดผสมอยู่ด้วย
สวนพริกไทย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของจันทบุรีและถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตพริกไทยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ นิยมใช้ปรุงอาหารได้หลายเมนูเพื่อช่วยเพิ่มรสเผ็ด เพิ่มกลิ่นหอม และดับกลิ่นคาวของอาหาร ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยป้องกันไม่ให้อาหารเน่าเสียได้ น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากเมล็ดพริกไทยใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงและเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางสำหรับลดรอยด่างดำบนใบหน้า รักษาสิว และช่วยบำรุงผิวได้อีกด้วย
การเพาะเมล็ดพืชผักสวนครัว ซึ่งปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน และยึดถือเป็นอาชีพได้ แต่เนื่องจากผลผลิตที่ได้จะต้องมีคุณภาพเราจะต้องเริ่มต้นจากการเพาะต้นกล้าที่สมบูรณ์ก่อนนำปลูกลงแปลงเพื่อให้ได้ซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน การเพาะกล้าเมล็ดพันธุ์สามารถลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ในจำนวนครั้งละมากๆและสามารถจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และทำการเพาะพันธุ์ต้นกล้าให้แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง
หมู่บ้านท่าแคลง หมู่ที่ 7 ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี สัมผัสวิถีชาวประมงบนเส้นทางเลีบยอ่าวไทยไปจรดชายฝั่งตะวันออก ณ จันทบุรี “ชุมชนท่าแคลง” เป็นอีกหนึ่งชุมชนบนเส้นทางสายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล จะเห็นการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การทำฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปลา และฟาร์มหอยนางรม ที่มีการจัดการในระบบเปิดตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ชุมชนมีฟาร์มเลี้ยงหอยนางรมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเปิดให้เข้าชมฟาร์มเลี้ยงหอยนางรม กูวิถีการเลี้ยงที่ใช้เพียงเชือกผูกและให้หอยมาเกาะเท่านั้น
จุดชมวิวเนินนางพญา ตั้งอยู่บนเนินริมทะเลใกล้กับหาดคุ้งวิมานและปากอ่าวคุ้งกระเบน เป็นจุดชมวิวที่ขึ้นชื่อของจันทบุรีเพราะมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นถนนเลียบชายทะเลที่ทอดยาวไปจนถึงหาดคุ้งวิมาน อ่าวคุ้งกระเบน และแหลมเสด็จที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบริเวณปากอ่าวได้รับเลือกให้เป็น Dream Destination จาก ททท. นับเป็นไฮไลท์หนึ่งที่ไม่ควรพลาด นักท่องเที่ยวจะนิยมมาชมพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น เพราะจะมองเห็นแสงสีทองกระทบน้ำทะเล ภูเขา ถนน นับว่าสวยงามยิ่งนัก
สักการะเจดีย์กลางน้ำ บนสะพานไม้ที่ทอดยาวท่ามกลางน้ำทะเลกว่า 50 เมตร เจดีย์กลางน้ำมีอายุมากกว่า 200 ปี สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวประมงและให้ชาวประมงมองเห็นแนวในการวิ่งเรือตามร่องน้ำออกสู่ปากอ่าว เนื่องจากบริเวณอ่าวมีแนวหินยื่นออกไปกลางอ่าวขวางทางเดินเรือ ซึ่งถือว่าเป๋นจุดชมวิว 360 องศา ที่มองเห็นท้องทะเลได้อย่างสวยงาม
จุดชมวิวหินโคร่งถือว่าเป็นอีกหนึ่ง LANDMARK ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะต้องมาเยือนเมื่อมาหาดคุ้งวิมาน บริเวณชายหาดจะเต็มไปด้วยหินน้อยใหญ่ จัดเรียงตัวอย่างสวยงาม
สำหรับสินค้าชุมชนที่น่าสนใจ ได้แก่ กะปิชั้นดี กะปิแท้จากเคย ชมขั้นตอนการทำกะปิจากเคยตามแบบวิถีชาวบ้าน ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ขนมจาก ชาใบขูล่ ปลาแดดเดียว กะปิหลน ผลไม้ถิ่นแปรรูป น้ำส้มมะปี๊ด เป็นต้น
No Comments