News PR NEWS

ปิ้งไอเดีย!! ชป. ทำวิจัยพลังงานชีวะมวลผักตบชวา ช่วยรัฐประหยัดงบกำจัดพันล้านต่อปี

15/11/2018

กรมชลฯ สุดเจ๋ง เตรียมขยายผลใช้ประโยชน์จากผักตบชวา 76 จว.ทั่วประเทศ ทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน ชี้ความสำเร็จ.ต.ศาลาดิน นครปฐม รับซื้อผักตบตากแห้งจากชาวบ้านถึงโลละ 20 บาท ผสมทำดินพร้อมปลูกขายไม่ทัน จ.ฉะเชิงเทรา ทำปุ๋ยอินทรีย์ จนผักตบขาดแคลน พร้อมส่งสำนักวิจัยฯ อาจทำพลังงานชีวะมวล ชี้ประหยัดงบรัฐบาลใช้กำจัดเป็นพันๆ ล้านบาทต่อปี

15 พ.ย.61 นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร นำคณะผู้บริหารสำนักงานชลประทานดูแลลุ่มน้ำ ลงพื้นที่ดูงานการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน ณ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดิ์ ต.ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน รับผิดชอบทางน้ำที่ประกาศใช้เป็นแนวลำน้ำระบายน้ำชลประทาน กว่า 4 หมื่นกิโลเมตร โดยใช้งบในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทุกชนิด 200 กว่าล้านบาทต่อปี ทั้งนี้สำหรับลำน้ำ ลำคลองทั่วประเทศมี 4 แสนกว่ากิโลเมตร ทำให้ในแต่ละกรมที่รับผิดชอบ เช่น กรมโยธาธิการ กรมเจ้าท่า และ กทม. ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากทุกปีในการจำกัดผักตบชวา รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องใช้งบกำจัด ดูแลคูคลองในทุกพื้นที่ แต่ยังมีผักตบชวาอีกมากมายลอยมาอยู่เต็มหน้าเขื่อนต่างๆ กำจัดเท่าไหร่ไม่หมดไป ดังนั้น หากทุกชุมชนช่วยกันจำกัดตั้งแต่ต้นทางโดยนำผักตบไปใช้ประโยชน์ เช่นที่ ต.ศาลาดิน ได้นำผักตบตากแห้งไปผสมทำดินพร้อมปลูกใส่ถุงขายถุง 10 บาท บรรจุ 3 กิโลกรัม มีต้นทุน 7 บาทต่อถุง โดยรับซื้อผักตบหั่นตากแห้งแล้วจากชาวบ้านถึงกิโลกรัมละ 20 บาท จนขณะนี้ผักตบในพื้นที่ขาดแคลน รวมทั้งยังมีกลุ่มเกษตรกร ต.บางระจัน จ.ฉะเชิงเทรา ที่รับซื้อผักตบจากชาวบ้าน นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ขายตันละ 2.5 พันบาท ทำให้ในพื้นที่ขาดแคลนผักตบเช่นกัน

“ผักตบชวาปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกปีต้องใช้งบกำจัดจำนวนมาก แค่ปรับความคิดจากพืชขยะให้เป็นพืชมีคุณค่า คนในชุมชนมีงานทำ ที่สำคัญรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก โดยชุมชนร่วมกลุ่มกันสร้างประโยชน์เช่นที่ ต.ศาลาดิน รับซื้อจากชาวบ้านโลละ20 บาท หากคิดเชิงตัวเลขผักตบ 1 ไร่ ขายได้ถึง 3.2 หมื่นบาท โดยจะวางแผนขยายผลไปทุกสำนักงานชลประทาน ทั้งหมดทำด้วยความสมัครใจจากทุกชุมชนร่วมกันยกระดับ เพราะการแก้ปัญหาบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก เพียงใช้มุมมองก็เปลี่ยนชีวิตได้”รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว 

นายมนัส กล่าวว่า จะนำต้นแบบการใช้ประโยชน์จากผักตบไปขยายผลให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน 2.7 พันกลุ่มทั่วประเทศ เมื่อดูความสำเร็จที่คลองมหาสวัสดิ์ และจ.ฉะเชิงเทรา แล้ว จะให้สำนักวิจัยและพัฒนาชลประทาน  ไปทำแผนขยายผลไป 76 จังหวัด อาจนำผักตบไปเป็นพลังงานชีวะมวลด้วย เสนอขอรัฐบาลให้งบจากเงินกองทุนหมู่บ้าน มาพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำในการนำผักตบชวาให้เป็นพืชที่มีค่าสร้างงานสร้างรายได้กับชุมชน ไม่ใช่เป็นพืชขยะ ซึ่งที่ผ่านมารัฐต้องเสียงบประมาณมหาศาลรวมแล้วกว่าพันล้านบาทในการกำจัดทุกปีก็ยังกำจัดไม่สิ้นซาก เพราะผักตบชวายังเป็นพืชแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วจาก 1 ช่อดอก มีเมล็ดกว่า 3 พันเมล็ดและเมล็ดที่อยู่ใต้น้ำมีอายุถึง15 ปี 

ด้าน นายวันชัย สวัสดิ์แดง ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำมหาสวัสดี กล่าวว่า ทั้ง  5 คลองในแถบนี้ ไม่มีผักตบชวา เพราะรับซื้อ 20 บาทต่อกิโลกรัมมาผสมทำดินพร้อมปลูกขายมีคนสั่งซื้อจนทำไม่ทันเพราะการใช้ดินจากผักตบมีประโยชน์เหมาะสมกับพืชและต้นไม้ ในเรื่องสังเคาระห์แสงได้ดี ชาวบ้านมีรายได้รับจ้างหั่นผักตบ ตักดินใส่ถุง วันละ200-300บาทต่อคน และจากพายเรือเก็บผักตบมาขายเดือนละ6-8พันบาทต่อคน ตอนนี้ผักตบกลายพืชที่มีเจ้าของ ซึ่งกลุ่มได้เก็บกำไรไว้ถุงละ1 บาทมาใช้บริหารจัดการให้คลองสวยน้ำใส ได้ดำเนินการมา3ปี เงินจากขายดินผักตบ ซื้อรถแบ็กโฮ ทำโรงเรือน ซื้อเครื่องผสมดิน อุปกรณ์ดักไขมัน ทำให้ชุมชนร่วมกันรักษาลำน้ำ และเปิดตลาดน้ำ  เมื่อทุกคนอยู่ในพื้นที่ได้มีอาชีพ ทำให้รักคลองมหาสวัสดิ์ จากเมื่อก่อนผักตบอัดแน่นเดินข้ามได้ มีน้ำเน่าเสีย เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังจาก3ปีได้ร่วมกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ร่วมกับกรมชลประทาน ทำให้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง หมดไปได้คลองใสสะอาดและได้พัฒนาชีวิตยกระดับความเป็นอยู่คนในชุมชนได้จริง

No Comments

    Leave a Reply