News

ชป.ย้ำแม้มีฝนตก แต่หลายพื้นที่ยังแล้ง วอนทุกฝ่ายร่วมใจกันประหยัดน้ำ ไม่ประมาท

12/05/2020

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และยังคงส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝน เพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แม้ว่าในระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ ยังมีไม่มากนัก

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำใน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(12 พ.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 34,472 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,802 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,380 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,684 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (12 พ.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,056 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 347 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 11 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้

สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 – 11 พฤษภาคม 2563 รวมประมาณ 234 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงวันเดียวกัน มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีน้ำต้นทุนน้อย จะมีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำได้อีกมากตลอดในช่วงฤดูฝนนี้

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผน
ที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมไปถึงให้เร่งกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่พร้อมรับกับสถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะภัยแล้งหรืออุทกภัย พร้อมกันนี้ ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมใจกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

No Comments

    Leave a Reply