วันที่ 11 มีนาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายนิพนธ์ ฟูศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานน่าน ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีนายวีระกร คำประกอบ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำน้ำแหง อำเภอนาน้อย เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการพัฒนาแหล่งน้ำและแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดน่าน สำหรับอ่างเก็บน้ำน้ำแหง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาค เนื่องจากโครงการมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างถึง 75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงได้วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ จาก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 15.73 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมติดตั้งฝายพับได้ที่บริเวณทางระบายน้ำล้น (Spill Way) โดยจัดเข้าแผนงานในปีงบประมาณ 2565 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาแผนพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาหมื่น อำเภอสันติสุข พร้อมจัดลำดับความสำคัญและความเหมาะสมต่อไป
ต่อมาในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมาธิการฯ เดินทางลงพื้นที่ไปดูงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊วกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอนาหมื่น โดยมีผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ นายอำเภอนาหมื่น ได้บรรยายสรุปถึงสภาพปัญหาของอำเภอนาหมื่น และการได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวอำเภอนาหมื่น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊วก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ
เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ไม่เกิน 500 ไร่ เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) นอกจากนี้ ยังขอให้พิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยฮ้อ อีกโครงการหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยกรมชลประทาน จะพิจารณาจัดเข้าแผนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตามงบประมาณที่ได้รับต่อไป
No Comments