News

ชป.เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง

09/06/2020

กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 6 ประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง และติดตามการดำเนินงานขุดลอกตะกอน กำจัดวัชพืช เพื่อเปิดทางน้ำบริเวณสะพานข้ามน้ำลำพะยัง ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสาเหตุน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำยังว่า
ลำน้ำยัง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพาน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
จังหวัดร้อยเอ็ด และบางส่วนของจังหวัดยโสธร รวมระยะทางกว่า 225 กิโลเมตร ช่วงต้นของลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ความจุลำน้ำประมาณ 546 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชีในเขต อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลง คดเคี้ยวมีกุดและหนองมาก ความจุลำน้ำประมาณ 206 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประจำเกือบทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งก็มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยังปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ E.54, E.70, และ E.92 ปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ยประมาณ 6-8 เมตร ประกอบกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 8 แห่งในพื้นที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จึงทำให้ยังมีช่องว่างเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกมากพอสมควร

ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรการของกรมชลประทาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.การกำหนดพื้นที่เพื่อทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซากและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างฯ รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 2.การกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และ 3.การจัดสรรทรัพยากร อาทิ เครื่องสูบน้ำ, รถขุด, Sheet Pile, กระสอบทราย และเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องจักรเข้าไปเปิดทางน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ-ชะลอน้ำ-หน่วงน้ำให้มากที่สุดตามเกณฑ์ที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ด้านล่างของลำน้ำยัง จำนวน 3 จุด คือ ปตร.บุ่งเบ้า ปตร.กุดปลาเข็ง และปตร.บ้านบาก เพื่อตัดยอดน้ำลงห้วยวังหลวง และแก้มลิง รวมถึงนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกตะกอนทรายที่ฝายท่าลาดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 63 นี้
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ก่อนน้ำมา แผนเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำยังไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

No Comments

    Leave a Reply