News

ชป.ลุยผันน้ำช่วยชาวบุรีรัยม์เต็มกำลัง ยันมีน้ำพอใช้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

08/06/2020

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เผชิญกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับมือกันเดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนเพื่อการผลิตน้ำประปา ให้ชาวบุรีรัมย์มีน้ำอุปโภคบริโภคไม่ให้ขาดแคลน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตังหวัดบุรีรัมย์ว่า ปัจจุบัน (8 มิถุนายน 2563) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 16 แห่ง มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ 12 แห่ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำยังคงมีปริมาณน้อย ที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาคบุรีรัมย์ จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากเป็นหลัก แต่เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับความแห้งแล้งมาเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ลดลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 7,000 ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 6,000 ลบ.ม. เท่านั้น ที่ผ่านมาโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการผันน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดและอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค จนกระทั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ร่วมกับ สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำห้วยสวายและทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวายผ่านท่อผันน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ผันน้ำเฉลี่ยวันละประมาณ 20,000 ลบ.ม. มาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก โดยมีแผนผันน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 – 4 ล้าน ลบ.ม. หรือจนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย นั้น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 5.339 ล้าน ลบ.ม. ไปลงยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดและอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก พร้อมทั้งจะดำเนินการหาแนวทางเก็บกักน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งนึ้ให้ได้มากที่สุดในระยะต่อไป

ทั้งนี้ โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และหาแนวทางการเก็บน้ำในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งวางแผนการสูบน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงเพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

No Comments

    Leave a Reply