News

ชป.ไม่หวั่น! วางแผนบริหารจัดการน้ำพร้อมรับมือฝนน้อย

03/07/2023

วันนี้ (3 ก.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (3 ก.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,612 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 14,674 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 37,725 ล้าน ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,442 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,726 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 14,449 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 3 – 9 ก.ค. 66 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้กำชับให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และข้อสั่งการกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด โดยให้มีการจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างประณีต พร้อมสำรวจความมั่นคงของอาคาร คันดิน ประตูระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ และดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปด้วย

No Comments

    Leave a Reply