News

ผู้ว่าฯกทม. – CEO ซีพีเอฟ คิกออฟ โครงการ”กล้าจากป่า พนาในเมือง(กทม.)” เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

11/10/2022

ผู้ว่าฯกทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จับมือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ คิกออฟ โครงการ”กล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.)” ร่วมสร้างกรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียว หนุนนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง พร้อมทั้งแจกกล้าไม้ให้คนกรุงเทพฯ นำไปปลูกที่บ้าน เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และบรรเทาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (11 ตุลาคม 2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกทม.และซีพีเอฟ เปิดตัวโครงการ “กล้าจากป่า พนาในเมือง(กทม.)” สนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยกิจกรรมครั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม.ร่วมชมนิทรรศการ “จากภูผา สู่ป่าชายเลน” ซึ่งซีพีเอฟมีการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ไฮไลท์ของกิจกรรม ผู้ว่าฯ”ชัชชาติ” และซีอีโอ ซีพีเอฟ ร่วมกันปลูกต้นจำปาป่า ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็ว ให้ร่มเงา และผู้ว่าฯกทม.รับมอบกล้าไม้จากซีพีเอฟ เพื่อนำไปกระจายต่อให้คนกรุงเทพฯร่วมกันปลูกต้นไม้ และร่วมกันแจกกล้าไม้ให้ประชาชนนำไปปลูกที่บ้าน ซึ่งกิจกรรมจัด ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวขอบคุณในความร่วมมือของซีพีเอฟที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีของกทม. ร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อสร้างเมืองที่มีคุณภาพส่งต่อให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ ความสำเร็จของโครงการฯในวันนี้ มาจากความร่วมมือของกทม. ประชาชนและเอกชนทุกภาคส่วน และซีพีเอฟเป็นตัวอย่างที่ดีที่เข้ามาให้ความร่วมมือช่วยเติมเต็มให้โครงการ ฯ ทั้งสนับสนุนเรื่องกล้าไม้จากแหล่งเพาะทำให้ได้กล้าไม้ที่แข็งแรง เพื่อกระจายกล้าไม้ให้กับประชาชนปลูกได้มากขึ้น และบริษัทฯยังนำองค์ความรู้และประสบการณ์ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน เป็นสิ่งสำคัญที่ซีพีเอฟเข้ามาช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ ขอให้เราช่วยกระจายสิ่งดีๆ เกิดเมืองดีๆ เริ่มที่กทม.จากความร่วมมือของทุกคน

ด้านนายประสิทธิ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึดปรัชญาสามประโยชน์ คือ ไม่ว่าจะเข้าไปทำธุรกิจที่ไหนก็ตาม เราต้องมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกที่ดี ต้องทำให้สังคมและประเทศดีขึ้น รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่สำคัญมากของซีพีเอฟ เรามีความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่าการที่บริษัทจะอยู่ได้อย่างมั่นคง สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศต้องดีก่อน ขอขอบคุณกทม.ที่ให้โอกาสซีพีเอฟเข้าร่วมทำกิจกรรมดีๆ และร่วมกันดำเนินโครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง(กทม.) สนับสนุนการปลูกต้นไม้ ตามนโยบายที่ผู้ว่ากทม.มีเป้าหมายจะปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ รวมทั้งคนกทม. และคนในประเทศไทยที่ทุกคนปรารถนาดีและรักประเทศ โดยมีผู้นำที่นำโครงการดีๆ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเข้ามาดูแล ซีพีเอฟเป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาสาสมัครเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการของกทม. ถ้าเราทำกทม.ให้เป็นเมืองสีเขียวได้ ก็จะเป็นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเราและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วย

กิจกรรมในวันนี้ ผู้ว่าฯกทม.และซีอีโอ ซีพีเอฟ ยังได้ร่วมกันแจกกล้าไม้ให้ประชาชนเพื่อนำไปปลูกที่บ้าน มีทั้งไม้ยืนต้น 4 ชนิด ได้แก่ พะยูง กฤษณา ยางนา มะขาม และไม้ฟอกอากาศหรือไม้มงคล อาทิ ออมชมพู เงินไหลมา พลูแอ๊ปเปิ้ล บับเบิ้ลมาร์ค , มอนเตอร่า อคูมินาต้า ซึ่งกล้าไม้เหล่านี้ ซีพีเอฟจ้างงานชุมชนรอบเขาพระยาเดินธงเพาะกล้าและดูแลจนกล้าไม้แข็งแรง เป็นการกระจายอาชีพและสร้างรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ประชาชนที่รับกล้าไม้ไปปลูก สามารถบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่เราปลูกได้ใน”ปลูกอนาคต” โดยเพิ่มเพื่อใน Line ค้นหาชื่อ @tomorrowtree

สำหรับโครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง(กทม.) นอกจากเป็นการสนับสนุนนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นของกทม.แล้ว ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ข้อ13 สร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 15 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า ./

No Comments

    Leave a Reply